ประเทศไทย โดยความร่วมมือจากหน่วยงานภาคสาธารณสุข การเกษตร ปศุสัตว์ และสิ่งแวดล้อม ออกแบบระบบ เฝ้าระวังการดื้อยาภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวของประเทศไทย เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์เชื้อดื้อยาด้านห้องปฏิบัติการ ระบาดวิทยาและการประเมินความเสี่ยง
นายแพทย์พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial resistance) ของเชื้อแบคทีเรียได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทําให้ยาต้านจุลชีพที่ในอดีตเคยใช้ได้ผลกลับกลายเป็นใช้ไม่ได้ผลแล้วในปัจจุบัน ส่งผลให้โรคติดต่อต่างๆ ที่เคยควบคุมได้กลับมาระบาด และมีค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคติดเชื้อเพิ่มขึ้น รัฐบาลได้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564 และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 1 โดยมีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เป็นผู้ดำเนินการหลักในการขับเคลื่อน แผนยุทธศาสตร์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
นายแพทย์พิศิษฐ์ กล่าวต่ออีกว่า คณะทำงานพัฒนาระบบเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะอนุกรรมการฯ จึงจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การออกแบบระบบเฝ้าระวังการดื้อยาภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวของประเทศไทย” ณ โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี มีวัตถุประสงค์ของการประชุมเพื่อจัดทำและออกแบบโครงสร้างระบบเฝ้าระวังที่สอดคล้องกับแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวเชื่อมโยงทุกภาคส่วน ทั้งภาคสาธารณสุข การเกษตร ปศุสัตว์ และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีความเหมาะสมสำหรับประเทศไทย และได้ข้อมูลสำหรับวิเคราะห์สถานการณ์เชื้อดื้อยาด้านห้องปฏิบัติการ ระบาดวิทยา และการประเมินความเสี่ยง โดยผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย อนุกรรมการและคณะทำงานพัฒนาระบบเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว ผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคสาธารณสุข การเกษตร ปศุสัตว์ และสิ่งแวดล้อม
“ผลที่ได้รับจากการประชุมนี้คือ สร้างความเข้าใจร่วมกันถึงความต้องการและความจำเป็นต้องมีระบบเฝ้าระวังการดื้อยาภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวของประเทศไทย เพื่อประโยชน์ในการกำหนดนโยบาย กำกับติดตามความก้าวหน้าและผลลัพธ์ของมาตรการการจัดการต่างๆ ตลอดจนผลกระทบต่อประชาชนในมุมมองด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ และร่วมกันกำหนดแผนงานและกลไกการประสานงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน องค์กรระดับประเทศ เพื่อเร่งให้เกิดระบบเฝ้าระวังการดื้อยาภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวของประเทศไทย โดยแผนงานครอบคลุมประเด็นหลัก ได้แก่ แนวทางการดำเนินงานทางห้องปฏิบัติการในการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยา รูปแบบฐานข้อมูล การเฝ้าระวัง และผู้ประสานงานหลักของทุกภาคส่วน ตลอดจนได้แนวทางการประเมินและการสื่อสารความเสี่ยงการดื้อยาต้านจุลชีพ” นายแพทย์พิศิษฐ์ กล่าวทิ้งท้าย