GC เดินหน้าลงทุนในพื้นที่ EEC ตอกย้ำความก้าวหน้าโครงการปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์คืบหน้ากว่า 50 %
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (CEO) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เปิดเผยว่า ในปี 2562 GC เดินหน้ากลยุทธ์ตามแผนระยะยาว (Long Term Strategic Execution) ขับเคลื่อนโครงการลงทุนในกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ อย่างเต็มที่ เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยเป็นการลงทุนเพื่อต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ สร้างรายได้ให้กับประเทศชาติ สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมในบริเวณพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) รวมถึงมุ่งเน้นการลงทุนไปยังผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติเฉพาะทางและมีสมรรถนะสูง (Performance Chemicals) โดยในปัจจุบัน บริษัทฯ มีการลงทุนในโครงการสำคัญหลายโครงการซึ่งได้รับการอนุมัติการลงทุนในช่วงที่ผ่านมาและอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างและมีความคืบหน้าของแต่ละโครงการ ดังนี้
1) โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต Olefins Reconfiguration (ORP) เป็นการขยายกำลังการผลิตผ่านการลงทุนใน Naphtha Cracker ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบที่บริษัทฯ มีอยู่แล้วและเป็นการต่อยอดธุรกิจปลายน้ำในอนาคตด้วยกำลังการผลิตเอทิลีน 500,000 ตันและ โพรพิลีน 250,000 ตัน ขณะนี้อยู่ในระหว่างการก่อสร้างคืบหน้าไปแล้ว ประมาณ 45% คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2563 มูลค่าโครงการประมาณ 36,000 ล้านบาท
2) โครงการโพรพิลีนออกไซด์ (Propylene Oxide :PO) ดำเนินการโดย บริษัท GC Oxirane จำกัด (GCO) โดย GC ถือหุ้น 100 % เพื่อผลิตโพรพิลีนออกไซด์ (PO) 200,000 ตันต่อปี ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตโพลีออลส์ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการก่อสร้างคืบหน้าไปแล้ว 56 % คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2563
3) โครงการโพลีออลส์ (Polyols) ดำเนินการโดย บริษัท GC Polyols จำกัด (GCP) โดย GC ถือหุ้น 82.1% Sanyo Chemical 14.9 % และ Toyota Tsusho 3 % เพื่อผลิตโพลีเอเทอร์โพลีออลส์ (Polyether Polyols) 130,000 ตันต่อปี โพลิเมอร์โพลีออลส์ (Polymer Polyols) 30,000 ตันต่อปี และ พรีมิกซ์ (Premix) 20,000 ตันต่อปี เป็นการต่อยอดผลิตภัณฑ์โพรพิลีนไปสู่ผลิตภัณฑ์ปลายทางสายโพลียูรีเทน (Polyurethane) ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คืบหน้าไปแล้ว 60 % คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2563 โดยทั้งสองโครงการ PO/Polyols มีมูลค่าโครงการประมาณ 34,000 ล้านบาท
ผลิตภัณฑ์จาก Polyols สามารถนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์สมรรถนะสูง (Performance Chemicals) ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง (Construction) กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอีเล็คทรอนิกส์ (Electrical & Electronics : E&E) กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ (Automation) กลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ในครัวเรือน
(Household) กลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้า (Footwear) และกลุ่มอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ (Packaging) ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ใน New S-Curve เพื่อตอบสนองต่อแนวทางส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐที่ลงทุนในพื้นที่ EEC
โครงการ Polyols เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากพันธมิตรที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะด้าน Feedstock หรือวัตถุดิบจาก GC ด้านเทคโนโลยีทันสมัยจาก Sanyo Chemical และการสนับสนุนด้านเครือข่ายทางการตลาดจาก Toyota Tsusho สองผู้ร่วมทุนจากประเทศญี่ปุ่น และทีมวิจัยด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สร้างนวัตกรรมที่พร้อมตอบสนองความต้องการของลูกค้า
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า นอกจากการลงทุนขนาดใหญ่ในพื้นที่ EEC แล้ว GC ยังมุ่งสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตด้วยการสนับสนุนการพัฒนาชุมชนที่บริษัทดำเนินธุรกิจอยู่ผ่านโครงการเพื่อสังคมต่างๆ ที่มุ่งส่งเสริมการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน การสร้างงานสร้างอาชีพ การพัฒนาทักษะฝีมือ ตลอดจนส่งเสริมวิถีชีวิตที่มีสุขภาพดีเป็นพื้นฐานของคนในชุมชน เช่น โครงการระยอง…..เส้นทางแห่งความสุข เป็นโครงการพัฒนาองค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดระยอง เพื่อจัดทำเส้นทางแห่งความสุขที่เกี่ยวกับการกิน การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ควบคู่กับการบูรณาการโครงการ CSR ที่สำคัญ โครงการเชฟชุมชนชวนกินถิ่นระยอง (ฮิ) และ โครงการเชฟชุมชนเพื่อท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน โครงการสร้างความร่วมมือในท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมความยั่งยืน รายได้ และความเป็นอยู่ของชาวระยอง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน เพราะระยองคือบ้านของเรา
อย่างไรก็ตาม GC พร้อมแล้วกับการต่อยอดขยายการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ในพื้นที่ EEC ที่เป็นพื้นที่ที่ GC เป็นผู้ประกอบการรายแรก ๆ ที่เข้าลงทุนเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ณ วันนี้ GC พร้อมก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างรายได้ให้กับประเทศ สามารถแข่งขันได้ในโลกการค้าเสรีในยุคปัจจุบัน