10 กุมภาพันธ์ 2559/ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ เทศบาลตำบลเกาะสีชังและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จัดประชุมสร้างความรับรู้และรับฟังความเห็นประชาชนในพื้นที่เกาะสีชัง เพื่อสร้างความพร้อมในการดำเนินการ “โครงการบริหารจัดการขยะชุมชนเทศบาลตำบลเกาะสีชัง อำเภอเกาะ สีชัง จังหวัดชลบุรี” บูรณาการทั้งงบประมาณและเทคโนโลยี 3 ฝ่าย วงเงิน 19 ล้านบาท หวังลดปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยกระบวนการบริหารจัดการขยะครบวงจรสร้างความยั่งยืนและคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชนในพื้นที่ โดยปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ความสำคัญพร้อมลงพื้นที่พบปะประชาชนและผู้นำท้องถิ่นด้วยตนเอง
รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญการพัฒนาประเทศโดยน้อมนำกระแสพระราชดำรัสแห่งการ “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” โดยมอบนโยบายให้ทุกกระทรวงดำเนินงานที่ตอบสนองความร้องการและแก้ไขปัญหาของประชาชนให้ทั่วถึง เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ การขับเคลื่อนใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ลงไปในพื้นที่นั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) อาศัยกลไกความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง “การพัฒนาจังหวัด ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม” เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2558 สอดคล้องตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 เห็นชอบให้ขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับจังหวัด ที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาชีวิต เศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในพื้นที่ในแต่ละจังหวัดอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ “โครงการบริหารจัดการขยะชุมชนเทศบาลตำบลเกาะสีชัง” เป็นหนึ่งในโครงการการบูรณาการงานด้าน วทน. ระหว่าง (วท.) กับเทศบาลตำบลเกาะสีชัง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีซึ่งเป็นเจ้าของเทคโนโลยีซึ่งเป็นคลินิกเทคโนโลยีเครือข่ายภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ
ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวต่อว่า การประชุมร่วมกันระหว่างผู้สนับสนุนโครงการ ผู้ต้องสนับสนุนการเทคโนโลยี และเจ้าของเทคโนโลยี นับเป็นโอกาสอันดีที่ทุกฝ่ายได้มาหารือทำความเข้าใจร่วมกันเวทีแสดงความคิดเห็นจะนำไปสู่ทางออกที่เป็นประโยชน์เกิดการยอมรับซึ่งกันและกัน อีกทั้งเป็นการประชุมเพื่อรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงาน และเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็นของทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ที่มีต่อโครงการฯ และการบริหารจัดการขยะของเกาะสีชัง นำไปสู่การเพิ่มศักยภาพของพื้นที่ให้สามารถบริหารจัดการการขยะและสิ่งแวดล้อมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีระบบการจัดการขยะที่ถูกหลักสุขาภิบาล ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน อันนำไปสู่การพึ่งพาตนเองในการจัดการขยะได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด อันเป็นการขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืนต่อไป
ด้าน ดร. พรรษา ลิบลับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า เทคโนโลยีการบำบัดขยะมูลฝอยด้วยวิธีการแบบเชิงกล-ชีวภาพ เป็นอีกหนึ่งในผลงานการคิดค้น วิจัย พัฒนาทางด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ที่ผ่านมาการวิจัยและพัฒนามาเกือบ 10 ปี เป็นเทคโนโลยีที่สามารถปรับเสถียรภาพของขยะมูลฝอยได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเป็นเชื้อเพลิงขยะและปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีนี้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายเพื่อจัดการขยะชุมชนทั่วประเทศ ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้ดำเนินการสำเร็จและใช้ประโยชน์เป็นรูปธรรมแล้วที่เกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว จ.พังงา
นอกจากนี้ นายพิศิษฐ สิริสวัสดินุกูล นายอำเภอเกาะสีชัง รู้สึกยินดีที่หน่วยงานภาครัฐจากส่วนกลางอย่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสถาบันการศึกษา คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้มองเห็นปัญหาขยะที่เกิดขึ้นในหลายๆ พื้นที่และดูจะเป็นปัญหาสำคัญสำหรับเมืองใหญ่และแหล่งท่องเที่ยวของประเทศไทย ซึ่งเกาะสีชังก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน ดังนั้น เมื่อทุกหน่วยให้ความสำคัญ ทำให้ท้องถิ่นไม่ต้องเผชิญกับปัญหาเพียงลำพัง ต้องขอขอบคุณที่เลือกอำเภอเกาะสีชังเป็นพื้นที่ที่ดำเนินการโครงการบริหารจัดการขยะ โดยใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณซึ่งเป็นการวางรูปแบบเทคโนโลยี ให้สอดคล้องกับโครงการที่ท้องถิ่นมีอยู่เดิม เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปในแนวทางเดียวกันได้อย่างลงตัว และเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับพื้นที่เกาะสีชังอย่างแท้จริง
สำหรับ โครงการสร้างระบบการจัดการขยะเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะ (RDF) และปุ๋ยอินทรีย์ เทศบาลตำบลเกาะสีชัง ใช้งบประมาณดำเนินการทั้งสิ้นประมาณ 19 ล้านบาท โดยบูรณาการงบประมาณ 3 หน่วยงาน ได้แก่
1. งบประมาณจากยุทธศาสตร์จังหวัดชลบุรี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 ภายใต้ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการขยะและระบบน้ำเสีย เพื่อการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในเขตอำเภอเกาะสีชัง ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อการจัดการขยะชุมชน 15 ตัน/วัน วงเงิน 15,360,200 บาท ประกอบด้วย
- ก่อสร้างอาคารเก็บขยะที่คัดแยกแล้ว จำนวน 6,126,300 บาท
- ก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก จำนวน 3,034,100 บาท
- ก่อสร้างลานตากขยะ จำนวน 1,869,800 บาท
- ระบบบำบัดน้ำเสีย จำนวน 2,930,000 บาท
- ระบบสายพานลำเลียงขยะ 3 ชุด จำนวน 1,400,000 บาท
2. งบอุดหนุนของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในการสนับสนุนเครื่องจักร เครื่องมือ และอุปกรณ์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของการจัดการขยะชุมชน 5 ตัน/วัน เป็นเงิน 2,872,000 บาท โดยปีงบประมาณ พ.ศ.2558 จำนวน 1,672,000 บาท ก่อสร้างทางลาดสำหรับรถวิ่งเทขยะ และถาดรับขยะ จำนวน 1 ชุด และเครื่องจักรสับขยะ ขนาด 5 ตันขยะสด/วัน พร้อมระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์ควบคุมการทำงานเครื่องจักร จำนวน 1 ชุด และปีงบประมาณ พ.ศ.2559 จำนวน 1,200,000 บาท เพื่อติดตั้งเครื่องจักรระบบชุดหมัก (Mechanical and Biological Waste Treatment: MBT) ขนาด 5 ตันขยะสด/วัน ประกอบด้วย ชุดเครนและรางเครน ชุดสกรูกลับกวนขยะ และชุดมอเตอร์และเกียร์ จำนวน 1 ชุด
3. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สนับสนุนการศึกษาออกแบบ และให้สิทธิในการใช้เทคโนโลยีการจัดการขยะ การใช้เทคโนโลยีทางกลชีวภาพ หรือ เทคโนโลยี MBT ในฐานะเจ้าของเทคโนโลยี ไม่คิดมูลค่าจำนวน 1,500,000 บาท