กระทรวงดิจิทัลฯ ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ จัดเวทีสัมมนา “Thailand-EU Seminar on E-Commerce and GDPR” หนุนผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซ รู้เท่าทันกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป (GDPR) เพิ่มโอกาสการเข้าถึงตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในยุโรป ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวระหว่างการเปิดงานสัมมนา “Thailand-EU Seminar on E-Commerce and GDPR” ซึ่งกระทรวงดิจิทัลฯ จัดร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล พัฒนาการและความเจริญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่สำคัญๆ เช่น การบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things : IoT) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) มีบทบาทสำคัญต่อการทำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การค้าขาย และการลงทุน ก่อเกิดความท้าทายของการบริหารจัดการธุรกิจและการบริหารจัดการข้อมูลส่วนบุคคล
ปัจจุบันประเทศไทยและสหภาพยุโรป (EU) ถือเป็นคู่ค้าที่สำคัญ นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือจาก EU ในการช่วยเหลือด้านเทคนิค เพื่อช่วยให้ไทยสามารถพัฒนาด้านเศรษฐกิจและเพื่อนำไปสู่ผลประโยชน์ของทั้ง 2 ฝ่าย โดยผ่านโครงการความร่วมมือต่างๆ ในประเทศไทย ซึ่งการจัดงานสัมมนาฯ ครั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของประเทศไทย
งานสัมมนาดังกล่าว จะให้ความรู้เกี่ยวกับทิศทางการเติบโตของตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ตลอดจนกฎระเบียบและกรอบกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง อาทิ ประเด็นการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในการเข้าถึงตลาดยุโรป ซึ่งเป็นตลาดอี-คอมเมิร์ซที่มีขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก และมีอัตราการขยายตัวอย่างมาก
ทั้งนี้ เมื่อปีที่ผ่านมา สหภาพยุโรปได้ประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยมาตรการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคล (General Data Protection Regulation หรือ GDPR) โดยนิยาม “ข้อมูลส่วนบุคคล” ตามกฎหมายฉบับนี้ หมายถึง ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลซึ่งทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม รวมถึงข้อมูลที่นำมารวมกันแล้วสามารถใช้ระบุอัตลักษณ์ของบุคคลได้ จึงอาจส่งผลกระทบต่อหลายฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าภาครัฐ ภาคเอกชน หรือ ภาคธุรกิจที่มีการดำเนินการเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล หรือการให้บริการออนไลน์แก่บุคคลที่อยู่ในสหภาพยุโรป
“การเตรียมความพร้อมและทำความเข้าใจกฎหมาย GDPR จึงมีความจำเป็นเพื่อส่งเสริมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของภาคธุรกิจให้เทียบเท่ากับมาตรฐานสากล และป้องกันผลกระทบจากกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นอีกด้วย” ดร.พิเชฐฯ กล่าว
ทางด้านกลุ่มเป้าหมาย นอกเหนือจากผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ยังครอบคลุมภาคธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบจากกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบบุคคลของสหภาพยุโรป GDPR ได้แก่ สาขาการบิน บริการด้านสุขภาพ โทรคมนาคม การเงิน การท่องเที่ยวและโรงแรม เนื่องจากเป็นภาคธุรกิจที่มีการดำเนินการเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลจำนวนมาก
ในงานนี้ยังมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสหภาพยุโรป อาทิ คณะกรรมาธิการยุโรปด้านความยุติธรรมและการคุ้มครองผู้บริโภค (DG JUST) และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัย Namur ประเทศเบลเยี่ยม รวมทั้งผู้แทนองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง อาทิ องค์การศุลกากรโลก (World Customs Organization : WCO) มาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความข้าใจเกี่ยวกับตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
ดร.พิเชฐฯ กล่าวอีกว่า คาดหวังผลจากการสัมมนาครั้งนี้ว่า 1.หนุนเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและสหภาพยุโรปที่เกี่ยวกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 2.เปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนได้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็นด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และแนวปฏิบัติต่อการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป และ 3.ยกระดับการรับรู้และความตระหนักของภาครัฐและภาคเอกชน เกี่ยวกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
สำหรับตลาดอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทย จากผลการสำรวจล่าสุดโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) กระทรวงดิจิทัลฯ ระบุว่า มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง ระหว่าง 8-10% ต่อปี โดยมีมูลค่าสูงถึง 3.2 ล้านล้านบาท เมื่อปี 2561 และยังมีแนวโน้มขยายตัวตามพฤติกรรมการใช้งานสื่อออนไลน์และโซเชียลของคนไทย ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 45 ล้านคน ผู้ใช้มือถือกว่า 124.8 ล้านราย ผู้ใช้ไลน์กว่า 44 ล้านคน และผู้ใช้เฟซบุ๊กกว่า 52 ล้านราย