นายธวัชชัย สำราญวานิช ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนระบบไฟฟ้า-ระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีการเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้ารูปแบบเดิม หรือ กริด ประมาณร้อยละ 99 ของพื้นที่ในประเทศไทย ยกเว้นพื้นที่ห่างไกลและเกาะขนาดเล็กที่ใช้การดึงไฟฟ้าจากแผ่นดินใหญ่ หรือผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ดังนั้นการนำระบบผลิตไฟฟ้าอัจฉริยะ หรือ สมาร์ทกริด เข้ามาใช้ในพื้นที่เหล่านี้ จะช่วยแก้ปัญหาด้านความมั่นคงทางไฟฟ้าได้ แต่ยอมรับว่าการติดตั้งระบบสมาร์ทกริดใช้งบลงทุนสูง กฟผ. จึงมีแผนระยะสั้น นำร่องการใช้ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนก่อน เพราะปัจจุบันต้องใช้การส่งไฟฟ้ามาจากจังหวัดเชียงใหม่ เป็นระยะทางถึง 200 กิโลเมตร จึงเกิดเหตุไฟฟ้าขัดข้องบ่อยครั้ง และทำให้ความเชื่อถือได้ในการใช้ไฟฟ้าอยู่ในระดับต่ำ เห็นได้จากสถิติในปี 2556 มีเหตุไฟฟ้าดับเกิดขึ้นถึง 83 ครั้ง โดยหากระบบดังกล่าวสามารถนำมาประยุกต์ใช้งานได้จริง จะมีการดำเนินแผนระยะกลางและระยะยาวต่อไป ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ หรือ พีดีพี
สำหรับระบบสมาร์ทกริดจะเป็นระบบที่เข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพมากขึ้น ตามการบูรณาการแผนไฟฟ้า 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า และคุณภาพของระบบไฟฟ้า / การพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ / การปฏิบัติการและการให้บริการ / การบูรณาการและการทำงานร่วมกับอุปกรณ์ไฟฟ้า รวมถึงความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ ล่าสุด กฟผ. ยังได้รับการอนุมัติจากสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยในปีนี้เตรียมจะจัดซื้อที่ดินเพื่อติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ พร้อมจัดทำเอกสารประกวดราคาเพื่อการออกแบบโครงการ จากนั้นในปีหน้าจะลงนามสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง และเริ่มดำเนินโครงการ คาดว่าพื้นที่บางส่วนจะเริ่มทยอยผลิตไฟฟ้าได้ในปี 2561