เร่งซ้อมรับมือ “สึนามิ”
พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ กล่าวว่า กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมกับหน่วยทหาร ฝ่ายพลเรือน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล จัดการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการ พ.ศ. 2562 (Integrated Disaster Management Exercise : IDMEx 2019) กรณีภัยจากสึนามิ ระหว่างวันที่ 24 มิ.ย. – 7 ก.ค.2562 โดยมุ่งเน้นการทดสอบกลไกการปฏิบัติการของกระบวนการแจ้งเตือนภัย การเผชิญเหตุและอพยพประชาชน รวมถึงการจัดการผลกระทบจากสึนามิอย่างรอบด้าน
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวถึงการฝึก IDMEx 2019 กรณีภัยจากสึนามิ ว่า การฝึกในครั้งนี้ ได้จำลองการฝึกการจัดการสาธารณภัยร้ายแรงอย่างยิ่ง (ระดับ 4) โดยตั้งสถานการณ์การฝึกว่า “เกิดสึนามิขนาดใหญ่” ส่งผลให้ระบบสื่อสารหลักไม่สามารถใช้งานได้ ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้รับบาดเจ็บและสูญหายจำนวนมาก รวมถึงคลื่นสึนามิได้สร้างความเสียหายต่อพื้นที่ โดยมีกิจกรรมการฝึกฯ ดังนี้ 1.ทดสอบการแจ้งเตือนและอพยพ (Drill) ในวันที่ 24-25 มิแ.ย. 2562 เพื่อทดสอบระบบเตือนภัยสึนามิ 2.การฝึกบนโต๊ะ (Table Top Exercise : TTX) ในวันที่ 27 – 28 มิ.ย. 2562 เพื่อทดสอบการประสานการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุสึนามิของ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน 3.การอบรมการใช้งานระบบ WebEOC ซึ่งเป็นระบบเฝ้าติดตามและรายงานภาพรวมสถานการณ์แบบทันเวลา ให้แก่เจ้าหน้าที่ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน 4.การฝึกเฉพาะเจ้าหน้าที่ ในวันที่ 1 ก.ค. 2562 เพื่อทดสอบการประสานงาน การสั่งการ ของกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ส่วนหน้า) และศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน และ 5. การฝึกปฏิบัติเชิงสาธิต (Drill) 6 สถานี ในวันที่ 7 กค.2562
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า สำหรับการฝึกปฏิบัติ (Drill) แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ 1. การฝึกปฏิบัติด้านการแจ้งเตือนภัยและการอพยพประชาชน ในช่วงวันที่ 24 มิ.ย. 2562 จ.สตูล ภูเก็ต พังงา และวันที่ 25 มิ.ย. 2562 จ.ตรัง กระบี่ และระนอง เพื่อทดสอบระบบเตือนภัยสึนามิ พร้อมซักซ้อมขั้นตอนการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุสึนามิและแผนปฏิบัติการอพยพ รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนเรียนรู้ทักษะการอพยพหนีภัยอย่างปลอดภัย 2. การฝึกปฏิบัติเชิงสาธิต 6 สถานี ในวันที่ 7 ก.ค. 2562 จ.ภูเก็ต โดยขอบเขตการฝึก ประกอบด้วย การจัดการศูนย์พักพิงชั่วคราวรองรับผู้อพยพ การค้นหาและช่วยเหลือผู้ติดค้างในพื้นที่เข้าถึงยาก การปฏิบัติการทางการแพทย์ การใช้เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการสื่อสาร ประสานงาน สั่งการ การจัดการทรัพยากรปฏิบัติการ ณ จุดระดมทรัพยากร และบทบาทของจิตอาสาสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ด้านการบรรเทาสาธารณภัย เพื่อเตรียมความพร้อมในการเผชิญเหตุและจัดการในภาวะฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวในศักยภาพและความพร้อมด้านการจัดการสาธารณภัยของภาครัฐ จึงขอแจ้งไปยังพี่น้องประชาชนที่พักอาศัยในบริเวณพื้นที่ฝึกปฏิบัติทั้ง 6 จังหวัดดังกล่าว สำหรับการฝึกปฏิบัติแบบจำลองสถานการณ์เสมือนจริงนี้โดยทั่วกัน.