นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า สทนช. ร่วมกับ ม.เกษตรศาสตร์ เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรน้ำทั้งในและต่างประเทศ ระดมความคิดเห็นการจัดทำผังน้ำ ภายใต้ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 สู่การบูรณาการจัดทำแผนหลักการจัดทำผังน้ำของประเทศอย่างเป็นมาตรฐาน เชื่อมโยงแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม และคุณภาพน้ำ อย่างยั่งยืน
การจัดทำผังน้ำภายใต้พ.ร.บ.น้ำฯครั้งนี้ จะครอบคลุมระบบน้ำทั้งหมดในพื้นที่ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไปและหน่วยงานต่างๆ ทั้งในส่วนของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำข้อมูล วิเคราะห์กำหนดผังน้ำ บังคับใช้ผังน้ำตามกฎหมาย และใช้ประโยชน์เพื่อไปประกอบเป็นข้อมูลในการดำเนินกิจกรรมด้านน้ำ ทั้งในภาวะปกติ ภาวะน้ำแล้ง ภาวะน้ำท่วม เช่น บ้านที่อยู่อาศัยหรือโรงงานอยู่ในเขตพื้นที่น้ำหลากหรือไม่ ระดับน้ำหลากที่เป็นไปได้ในคาบการเกิดต่างๆ นิคมอุตสาหกรรมที่จะก่อสร้างใหม่อยู่ในเขตน้ำหลากหรือไม่เป็น ตั้งอยู่ในพื้นที่กีดขวางการระบายน้ำหรือไม่ ระดับความสูงเท่าใดที่น้ำจะไม่ท่วมซ้ำซาก ช่องทางใดที่จะสามารถระบายน้ำหลากได้อย่างรวดเร็ว คำถามเหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่คาดหวังว่าผังน้ำจะช่วยให้คำตอบในเบื้องต้นได้
ซึ่งการดำเนินโครงการจัดทำแผนหลักการจัดทำผังน้ำ เพื่อกำหนดกรอบแนวทาง รูปแบบ แผนที่ผังน้ำที่เหมาะสมให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ และสามารถใช้ประโยชน์ได้ในทุกลุ่มน้ำทั่วประเทศ โดยจะเน้นถึงการควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินในขอบเขตพื้นที่ตามระบบทางน้ำที่ได้กำหนดแนวเขตไว้ในผังน้ำ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อสนับสนุนแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง ภาวะน้ำท่วม รวมถึงคุณภาพน้ำด้วย โดยว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นสถาบันที่ปรึกษา ดำเนินงานโครงการจัดทำแผนหลักการจัดทำผังน้ำ โดยมีกำหนดกรอบแนวทาง วิธีการศึกษาการจัดทำผังน้ำที่เหมาะสม เพื่อกำหนดรูปแบบ แผนที่ผังน้ำให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับและใช้ประโยชน์ได้ สอดคล้องตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ซึ่งโครงการดังกล่าวมีระยะเวลาดำเนินการ 270 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2562 กำหนดแล้วเสร็จในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563
อย่างไรก็ตามในอดีตที่ผ่านมา หน่วยงานต่างๆ มีจัดทำผังการระบายน้ำตามภารกิจหน้าที่ของหน่วยงาน เช่น กรมชลประทาน จัดทำผังการระบายน้ำของแม่น้ำสายหลักต่างๆ ซึ่งอยู่ในรูปแบบของไดอะแกรมเส้นเพื่อให้มองถึงความเชื่อมโยงของระบบระบายน้ำต่างๆ หรือกรมโยธาธิการและผังเมือง จัดทำผังระบายน้ำตามพระราชบัญญัติการผังเมือง (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 ซึ่งแสดงผลเป็น 4 ผัง ได้แก่ 1) แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จำแนกประเภท 2) แผนผังแสดงที่โล่ง 3) แผนผังแสดงโครงการคมนาคมและขนส่ง และ 4) แผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภคเพื่อการระบายน้ำ ซึ่งเป็นการแสดงถึงการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ในภาพรวมของแต่ละจังหวัด
สำหรับการประชุมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ ประกอบด้วย การบรรยายโดยวิทยากรทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ “กรอบแนวคิดการจัดทำผังเมือง ผังน้ำ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง” โดย กรมโยธาธิการและผังเมือง “การจัดทำทะเบียนแหล่งน้ำ และฐานข้อมูลที่รองรับการจัดทำน้ำ” โดย กรมทรัพยากรน้ำ “กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ลำน้ำธรรมชาติและการบังคับใช้ในปัจจุบัน” โดย กรมเจ้าท่า “แนวทางการดำเนินงานจัดทำผังน้ำ” โดย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมทั้งการบรรยายโดยวิทยากรจากประเทศที่มีเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญด้านผังน้ำได้แก่ เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน และเกาหลีใต้ ในหัวข้อ “กรอบแนวคิดผังน้ำและการใช้งาน” พร้อมมีการระดมความคิดเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้รูปแบบผังน้ำที่เหมาะสมอีกด้วย