นายเฉลิมชัย ปาปะทา รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า “ในช่วงปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาหมอกควันพิษ ค่า PM 2.5 เกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาหมอกควันพิษข้ามพรมแดน บางส่วนเกิดจากการเผาไร่ในพื้นที่เกษตรกรรม โดยขาดการควบคุมจึงนำไปสู่ปัญหาไฟป่า และอีกปัญหาที่เกิดอย่างต่อเนื่องในบางพื้นที่ คือ ปัญหาขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค ซึ่งมีสาเหตุหลักเนื่องจากสภาพอากาศของโลกที่แปรปรวนบวกกับพฤติกรรมของมนุษย์ ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ระบบนิเวศป่าไม้ สัตว์ป่า พื้นที่ป่าอนุรักษ์ พื้นที่ป่าสงวน และวิถีชีวิตทั้งคนเมืองและคนในชนบท”
ทั้งนี้จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน ได้พยายามแก้ไข ปัญหาโดยการจัดการพื้นที่ป่าในรูปแบบต่างๆเพื่อบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งการจัดการพื้นที่ป่าจำเป็นต้องมองความสัมพันธ์แบบรอบด้าน คือ ดิน,น้ำ,ป่า,ไฟป่า และพิจารณาถึงสภาพนิเวศที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ดังนั้นรูปแบบการจัดการ เช่น การปลูกเสริมป่าไม้,การป้องกันและจัดการไฟป่า และการสร้างฝายในพื้นที่แหล่งน้ำ จึงเป็นวิธีในการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ นอกจากนี้ยังมีหลายหน่วยงานมีส่วนเกี่ยวข้อง แต่อาจมีความคิดเห็นด้านการจัดการที่แตกต่างกัน หากทุกภาคส่วนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ เพื่อให้เกิดการจัดการและอนุรักษ์พื้นที่ป่าอย่างถูกต้องเหมาะสมต่อระบบนิเวศในพื้นที่นั้นๆ ก็จะเป็นการร่วมกันแก้ปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระยะยาวได้
“ดังนั้นมูลนิธิสืบนาคะเสถียรร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงได้จัดเวทีเสวนาวิชาการ “ไฟป่า สร้างฝาย ปลูกป่า องค์ความรู้สู่การจัดการป่า อย่างเหมาะสม” โดยมีวิทยากรที่มีความรู้ที่จะมาวิเคราะห์ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นและผู้ที่เกี่ยวข้องกับทั้งไฟป่า การสร้างฝาย การปลูกป่า เพื่อเปิดโอกาสให้แต่ละภาคส่วนได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับการปลูกเสริมป่าไม้ การป้องกันและจัดการไฟป่า การจัดการแหล่งน้ำอย่างเหมาะสม เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน และเกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศน้อยที่สุด อีกทั้งสามารถนำองคค์วามรู้เหล่านี้ไปปรับใช้เป็นต้นแบบในการจัดการและใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน และระบบนิเวศเฉพาะถิ่นไม่ถูกทำลายอีกด้วย”นายเฉลิมชัย กล่าวทิ้งท้าย