นายสมชาย ทรงประกอบ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า จากกรณีศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาให้ คพ. ดำเนินงานแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วบริเวณห้วยคลิตี้ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2556 โดยให้จัดทำแผนงาน วิธีการ และดำเนินการฟื้นฟู ตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำ จนกระทั่งไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน และชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงินรายละ 177,199.55 บาท คพ. ได้กำหนดแผนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วบริเวณห้วยคลิตี้ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด โดยได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นที่ปรึกษาเพื่อกำหนดแนวทางการฟื้นฟูพื้นที่คลิตี้ที่เหมาะสมและได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน และได้ว่าจ้างบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ให้เป็นผู้ดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 มีระยะเวลาการดำเนินการ 1,000 วัน โดยมีกิจกรรมประกอบด้วยการก่อสร้างหลุมฝังกลบแบบปลอดภัย การก่อสร้างฝายดักตะกอนเพิ่มเติม การขุดลอกลำห้วยคลิตี้ และการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนรอบโรงแต่งแร่เดิม โดยปัจจุบัน ณ วันที่ 27 มิถุนายน 2562 ได้ดำเนินโครงการไปแล้ว 590 วัน มีความก้าวหน้าของการดำเนินงานเกือบร้อยละ 50 มีกิจกรรมที่ได้ดำเนินการประกอบด้วย การสำรวจพื้นที่ การจัดทำมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินโครงการ การก่อสร้างหลุมฝังกลบแบบปลอดภัย การปิดคลุมพื้นที่โรงแต่งแร่และบ่อเก็บตะกอนหางแร่ การปรับปรุงถนนระหว่างหมู่บ้านคลิตี้บนและคลิตี้ล่าง และการเตรียมการก่อสร้างฝายดักตะกอนเพิ่มเติมอีก 2 ฝาย
นายสมชาย กล่าวว่า คดีที่เกี่ยวข้องกับกรณีคลิตี้มี 4 คดี ประกอบด้วย คดีปกครองระหว่างชาวบ้านกับ คพ. คดีแพ่งระหว่าง คพ. กับบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด กับพวก และคดีแพ่งระหว่างชาวบ้านกับบริษัทฯ จำนวน 2 คดี โดยคดีระหว่างชาวบ้านกับบริษัทฯ ทั้ง 2 คดี ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ชาวบ้าน และให้แก้ไขฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลย จนกว่าลำห้วยคลิตี้จะกลับมามีสภาพที่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ตามมาตรฐานของทางราชการ ซึ่งภายหลังจากที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา ปรากฏว่า จำเลยยังไม่ได้ดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษา ทนายโจทก์เห็นว่า คพ. เป็นหน่วยงานรัฐที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและต้องดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดอยู่แล้ว จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อขอให้ คพ. เข้าไปดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้แทนจำเลย โดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย ตามมาตรา 358 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งศาลจังหวัดกาญจนบุรีได้ขอความเห็นและ คพ. ได้แจ้งตอบว่า คพ. ไม่ขัดข้องที่จะดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้แทนจำเลย เพราะ คพ. ต้องดำเนินการอยู่แล้วตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด
สำหรับผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมบริเวณห้วยคลิตี้ ในปี 2561 พบว่า คุณภาพน้ำมีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานฯ ยกเว้นในช่วงฤดูฝน เนื่องจากมีน้ำไหลแรงและมีความขุ่นสูง ส่วนตะกอนดินบริเวณใกล้โรงแต่งแร่และใต้โรงแต่งแร่ยังคงมีการปนเปื้อนตะกั่วในปริมาณสูง อีกทั้งพบปริมาณตะกั่วในปูและหอยที่อาศัยอยู่กับตะกอนดินสูงกว่ามาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อนฯ จึงควรหลีกเลี่ยงการบริโภค ส่วนปลาสามารถบริโภคได้ตามปกติแต่ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคเครื่องใน โดยพืชผัก ส่วนใหญ่สามารถบริโภคได้ตามปกติ ทั้งนี้ คพ. ได้เผยแพร่ข้อมูลการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมบริเวณห้วยคลิตี้ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดทำเป็นป้ายประกาศเพื่อรายงานผลคุณภาพสิ่งแวดล้อมและป้ายประกาศที่ทำจากแผนที่ชุมชน