นายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือถึง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านทาง ศ.ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ทบทวนและปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญหมวดการปกครองท้องถิ่น
โดยมีใจความว่า สมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย ได้ร่วมหารือกับ ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น และข้าราชการส่วนท้องถิ่น จำนวนกว่า 500 คน เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2559 และวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559 ณ โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ประชุมมีมติให้ร้องขอต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญให้พิจารณาทบทวนและปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญหมวดการปกครองท้องถิ่น ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา ดังนี้
1) ขอให้เพิ่มวรรคห้าของมาตรา 247 ดังนี้ “เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการให้เป็นไปตามหมวดนี้ ให้มีสภาพัฒนาท้องถิ่นแห่งชาติ มีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง และบริการสาธารณะได้อย่างสมบูรณ์ มีประสิทธิภาพ และมีหน้าที่พัฒนาศักยภาพบุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีองค์ประกอบ ๔ ฝ่าย จากตัวแทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนข้าราชการส่วนท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิ จากภาควิชาการ ภาคประชาชน และภาคองค์กรเอกชน และให้มีสำนักงานเลขาธิการสภาพัฒนาท้องถิ่นแห่งชาติ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” เหตุผล: เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์และเป็นหลักประกันในพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง มีความเข้มแข็ง สามารถให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนได้อย่างเต็มศักยภาพ และประชาชนมีส่วนร่วมทั้งทางตรงและทางอ้อม
2) ขอให้เพิ่มวรรคสองและวรรคสามของมาตรา 248 ดังนี้ วรรคสอง “ให้บุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสถานะเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น หรือลูกจ้างท้องถิ่น โดยให้มีองค์กรกลางบริหารงานบุคคลในระดับชาติ และจังหวัด ร่วมกันเป็นองค์กรเดียว โดยมีองค์ประกอบสี่ฝ่าย ได้แก่ ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนบุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมาจากนักวิชาการ องค์กรภาคประชาชน และองค์กรเอกชน มีจำนวนเท่ากัน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” วรรคสาม “ให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นและคณะกรรมการแต่งตั้งบุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” เหตุผล: เพื่อเป็นหลักประกันในกระบวนการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยยึดหลักธรรมาภิบาลและหลักคุณธรรม รวมทั้งหลักประกันในความเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
3) ขอให้แก้ไขความในวรรคสองของมาตรา 249 ใหม่ดังนี้ “ผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน หรือในกรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ จะให้มาโดยวิธีอื่นก็ได้ แต่ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” เหตุผล: เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนส่วนใหญ่และเป็นการพัฒนาประชาธิปไตยฐานรากอย่างต่อเนื่องโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยตรง และให้ผู้บริหารท้องถิ่นต้องรับผิดชอบต่อประชาชน ตามหลักการ เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา