ทั้งนี้ ภายหลังมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลใหม่เป็นที่เรียบร้อยไปแล้วนั้น โดยในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการฯ และมีรัฐมนตรีช่วยประกอบด้วยนายธรรมนัส พรหมเผ่า น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ และนายประภัตร โพธสุธน นั้น มีรายงานข่าวเปิดเผยว่า ได้มีการประสานมาถึงปลัดกระทรวงเกษตรฯ โดยตรงแล้ว พร้อมกับได้พูดคุยถึงนโยบายเบื้องต้นด้วย โดยจะมีการขับเคลื่อนตามนโยบายศาสตร์พระราชาเป็นหัวใจหลัก
สำหรับการแบ่งการดูแลนั้น ในส่วนนายเฉลิมชัย จะดูแล 4 หน่วยงานหลัก คือ กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กรมฝนหลวงและการบินเกษตร สำหรับอีก 3 รมช.เกษตรฯ นายเฉลิมชัย จะประชุมหารือกับ 3 รมช.อีกครั้งว่า จะมีการแบ่งงานกันอย่างไร คาดว่าจะเข้ากระทรวง หลังจากถวายสัตย์ปฏิญาณในสัปดาห์หน้า
รายงานข่าว ระบุว่า สิ่งสำคัญอันดับแรกที่รัฐมนตรีเกษตรฯ ทั้ง 4 คน ได้เตรียมหารือกัน และจะดำเนินการเร็วที่สุด คือการปรับเปลี่ยนบุคลากรของกระทรวงเกษตรฯ เพื่อให้งานนโยบายที่เน้นแก้ปัญหาปากท้อง เดินหน้าไปได้รวดเร็วตามที่หาเสียงไว้ รวมทั้งจะเร่งสร้างคะแนนนิยมจากประชาชนให้ได้โดยเร็ว รัฐบาลนี้จึงต้องใช้กลไกของกระทรวงเกษตรฯ ที่นำนโยบายลงสู่ระดับล่างได้ทันทีและทั่วถึง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้ได้ผลดีชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ในเดือนกันยายนนี้ มีข้าราชการระดับสูงในระดับ 10 เกษียณอายุ 9 ตำแหน่ง คือ ผู้ตรวจราชการ 2 ตำแหน่ง นางสาววราภรณ์ พรหมพจน์ และนายอานัติ วิเศษรจนา รองปลัดกระทรวง 3 ตำแหน่ง คือ นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน นายสุรเดช เตียวตระกูล นายสุรจิตต์ อินทรชิต อธิบดี 4 ตำแหน่ง คือ นายประสงค์ ประไพตระกูล อธิบดีกรมการข้าว นางสาวศิริพร บุญชู อธิบดีกรมหม่อนไหม นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)
ขณะที่ ปีงบประมาณ 2562 กระทรวงเกษตรฯ ได้รับการจัดสรร ทั้งสิ้น 108,539.324 ล้านบาท คิดเป็น 3.6%ของงบประมาณรายจ่ายรวม ซึ่งงบประมาณจำนวนดังกล่าว จะถูกกระจายไปให้หน่วยงานในกำกับดูแล ดังนี้ 1.สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 1,756.01 ล้านบาท 2.กรมการข้าว 3,138.44 ล้านบาท 3.กรมชลประทาน 65,643.27 ล้านบาท 4.กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ 1,354.42 ล้านบาท 5.กรมประมง 4,096.94 ล้านบาท
6.กรมปศุสัตว์ 6,225.69 ล้านบาท 7.กรมฝนหลวงและการบินเกษตร 2,302.03 ล้านบาท 8.กรมพัฒนาที่ดิน 5,723.70 ล้านบาท 9.กรมวิชาการเกษตร 4,136.47 ล้านบาท 10.กรมส่งเสริมการเกษตร 6,340.56 ล้านบาท 11.กรมส่งเสริมสหกรณ์ 3,101.68 ล้านบาท 12.กรมหม่อนไหม 710.14 ล้านบาท 13.สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 1,937.44 ล้านบาท 14.สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ 285.96 ล้านบาท และ 15.สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร 644.47 ล้านบาท
ส่วนองค์การมหาชน 3 หน่วยงาน จะได้รับการจัดสรรงบ ดังนี้ 1.สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การ์มหาชน) 546.45 ล้านบาท 2.สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน) 198.75 ล้านบาท และ 3.สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) 396.80 ล้านบาท และมีรัฐวิสาหกิจอีก 4แห่ง คือ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) องค์การตลาดเพื่อเกษตรกรรม (อตก.) องค์การสะพานปลา องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อสค.) และยังมีสำนักงานกองทุนฟื้นฟูเพื่อพัฒนาเกษตรกร (กฟก.)