นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกขณะนี้แนวโน้มสูงขึ้นในทุกจังหวัด ซึ่งในปีนี้ครบวงรอบการระบาดปกติจะระบาดปีเว้นปีหรือสองปี จึงสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการรับมืออย่างเข้มข้น โดยให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่งตั้งมุมให้คำปรึกษาไข้เลือดออก (Dengue corner) เพื่อคัดกรอง ติดตาม ดูแลรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออก และจัดให้มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา ดูแลกลุ่มเสี่ยงและผู้ป่วยอาการรุนแรงอย่างใกล้ชิด จัดอบรมแพทย์จบใหม่ในการวินิจฉัย ดูแลรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออก รวมถึงขอความร่วมมือ ประชาชนทุกภาคส่วน จิตอาสา ช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างต่อเนื่อง โดยให้แต่ละบ้านสำรวจจุดเสี่ยงแหล่งเพาะพันธ์ลูกน้ำยุงลายที่พบบ่อย เช่น ภาชนะที่ถูกทิ้ง จานรองกระถางต้นไม้ ยางรถยนต์เก่าไม่ให้มีน้ำขัง โอ่งใส่น้ำที่ไม่มีฝาปิด ส่วนภาชนะรองน้ำทิ้งหลังตู้เย็น ภาชนะรองขาตู้กับข้าว แจกันพลูด่าง แก้วน้ำหิ้งพระให้ทำความสะอาดเปลี่ยนน้ำทุกสัปดาห์ หรือใช้กับดัก “LeO-Trap” ใส่สารซีโอไลท์ นวัตกรรมที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้คิดค้นขึ้น ซึ่งเป็นกับดักไข่ยุงแบบดักตาย นำไปวางในบ้านในห้องนั่งเล่น ใต้บันได ชั้นวางรองเท้า หรือบริเวณที่มียุงชุกชุมเพื่อช่วยตัดวงจรยุง และขอความร่วมมือร้านขายยา คลินิก ไม่ให้จ่ายยาแก้ปวดลดไข้กลุ่มเอ็นเสด (NSAIDS : Nonsteroidal anti-inflammatory drug) เช่น แอสไพริน บรูเเฟน ในผู้ป่วยที่สงสัยโรคไข้เลือดออก เพราะอาจทำให้เกิดอาการเลือดออกมากขึ้น
ด้านนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออก ล่าสุด จากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 9 กรกฎาคม 2562 พบผู้ป่วยไข้เลือดออก จำนวน 44,671 ราย เสียชีวิต จำนวน 62 ราย โดยในเดือนมิถุนายน มีผู้ป่วยจำนวน 15,440 ราย เสียชีวิต 13 ราย ขอแนะนำประชาชนหากพบเห็นผู้ป่วยมีไข้สูง 2 วัน อาการไม่ดีขึ้น อ่อนเพลีย ซึมลง ปัสสาวะสีเข้ม หรือไข้ลดแล้วแต่อาการแย่ลง ซึมกว่าเดิม เบื่ออาหาร ขอให้สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออกและรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที และห้ามซื้อยารับประทานเอง
ทั้งนี้ ผู้ป่วยไข้เลือดออกส่วนใหญ่จะมีอาการคล้ายไข้หวัดทั่วไป เช่น ปวดศีรษะ ตัวร้อน คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตามตัว สำหรับอาการเด่น คือ ไข้สูงเฉียบพลัน แต่ส่วนมากไม่มีน้ำมูก ไม่ไอ อาจมีจุดเลือดออกเล็กๆ กระจายอยู่ตามแขน ขา ลำตัว และรักแร้ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น คือ ให้เช็ดตัวด้วยน้ำอุณหภูมิห้อง รับประทานยาพาราเซตามอลลดไข้ ห้ามใช้ยาแก้ปวดลดไข้กลุ่มเอ็นเสด โดยปกติอาการจะดีขึ้น หลังไข้ลด กินอาหาร ดื่มน้ำได้ ปากไม่แห้ง ปัสสาวะปกติ สำหรับผู้ป่วยที่อาการรุนแรงจะมีเลือดออกที่อวัยวะภายในร่างกาย เช่น ทางเดินอาหาร ตับ ม้าม หรือไตวาย มีโอกาสเกิดภาวะช็อก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงทีอาจเสียชีวิตได้ โดยวิธีป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ดีที่สุดคือการกำจัดและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ซึ่งประชาชนที่สนใจ กับดัก “LeO-Trap" สามารถซื้อได้ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือทาง FB : leotrap, Instagram : LeO-Trap, Line : @leotrap-ikari หรือโทร 02 295 2151-3 1 กล่องมี 2 ชุด ราคา 300 บาท