บอร์ด GPSC ไฟเขียวออกหุ้นเพิ่มทุน 74,000 ล้านบาท เสนอขายผู้ถือหุ้นเดิม หรือ Right Offering เน้นผู้ถือหุ้นทุกคนได้สิทธิเท่าเทียมกัน และสามารถใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนได้ที่ราคาเดียวกัน ในอัตราส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ0.8819 หุ้นใหม่ โดยมีราคาเสนอขายหุ้นละ 56 บาท ให้ส่วนลด 20% จากราคาหุ้นถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักย้อนหลัง 30 วันทำการติดต่อกัน เตรียมเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้น 28 ส.ค. นี้ หวังเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการเงิน เตรียมพร้อมรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต พร้อมเดินหน้าสร้าง Synergy ธุรกิจหลังรวมกิจการ GLOW หนุนผลดำเนินงานเติบโตยั่งยืน
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า
กลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติ เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2562 อนุมัติแผนการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในวงเงิน 74,000 ล้านบาท เพื่อปรับโครงสร้างทางการเงินของบริษัทฯ ให้มีฐานทางการเงินที่แข็งแกร่งมากขึ้น รองรับการขยายการลงทุนในอนาคต
ในการเพิ่มทุนครั้งนี้ บริษัทฯ จะดำเนินการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน1,321.43 ล้านหุ้น เสนอขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Right Offering: RO) ในอัตรา 1 หุ้นเดิมต่อ 0.8819 หุ้นใหม่ สำหรับส่วนลดแก่ผู้ถือหุ้นประมาณ 20%ซึ่งทำให้การกำหนดราคาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวเท่ากับ 56 บาทต่อหุ้นนั้น คิดจากราคาถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของหุ้นของบริษัทฯ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ย้อนหลัง 30วันทำการ ก่อนวันที่คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2562 (ระหว่าง 13มิ.ย.- 25 ก.ค. 2562) ให้เสนอวาระดังกล่าวต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณา ซึ่งเท่ากับประมาณ 70 บาท (ข้อมูลจาก SETSMART ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) โดยจะเสนอในที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2562 พิจารณาอนุมัติในวันที่ 28 ส.ค. 2562 โดยจะกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Record Date) วันที่ 4 ก.ย. 2562 และเปิดให้ผู้ถือหุ้นใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนระหว่างวันที่ 30 ก.ย.– 4 ต.ค. 2562
สำหรับเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนในครั้งนี้ บริษัทฯ จะนำเงินที่ได้รับ ส่วนหนึ่งไปชำระคืนหนี้เงินกู้ระยะสั้น (Bridge Financing) จากสถาบันการเงินและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน)) ที่บริษัทฯ ใช้ในการเข้าซื้อกิจการของบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) และเพื่อเป็นการรักษาระดับอัตราส่วนทางการเงินให้เทียบเคียงได้กับบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน โดยมีโครงสร้างทางการเงินที่เหมาะสม และรองรับการลงทุนในโครงการปัจจุบันและโครงการในอนาคต
สำหรับการดำเนินงานของบริษัทฯ ภายหลังรวมกิจการ GLOW นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำแผนเพิ่มประสิทธิภาพการ Synergy ในด้านต่างๆ ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการด้านต้นทุน การพัฒนาบุคลากร แผนเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ แผนหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า และ แผนการจัดหาอุปกรณ์เพื่อการซ่อมบำรุง รวมถึงความพร้อมในการรองรับการให้บริการในด้านต่างๆ ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน และจำนวนลูกค้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการลงทุนของผู้ประกอบการในโครงการพัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
“ทั้ง GPSC และ GLOW ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิด Synergyสูงสุดในด้านต่างๆ ทั้งการผลิต ต้นทุน บุคลากร การขยายโครงข่ายการให้บริการ ฯลฯ ให้สามารถตอบสนองความต้องการด้านการใช้พลังงานไฟฟ้าของประเทศ มีส่วนหนุนให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน” นายชวลิตกล่าว
สำหรับแผนธุรกิจของบริษัทฯ ในอนาคต มุ่งดำเนินงานตามยุทธศาสตร์หลักประกอบด้วย 1.การเติบโตพร้อมกลุ่ม ปตท. 2.การขยายการลงทุนและพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ และ 3.การพัฒนาธุรกิจใหม่
ปัจจุบัน GPSC มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 4,986 เมกะวัตต์ โดยมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีกหลายโครงการที่จะเริ่ม COD ในปีนี้ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว ได้แก่ โรงไฟฟ้าน้ำลิก 1 (NL1PC) ขนาดกำลังการผลิต 65 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้า ไซยะบุรี (XPCL) กำลังการผลิต 1,285 เมกะวัตต์ และศูนย์ผลิตสาธารณูปการ จังหวัดระยอง แห่งที่ 4 (CUP-4) กำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 70 ตันต่อชั่วโมง นอกจากนี้ ยังมีอีก 3 โครงการที่จะทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2563 2564 และ 2566 ได้แก่ โครงการผลิตไฟฟ้านวนคร ส่วนขยาย (NNEG Expansion) โครงการโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง RDF และหน่วยผลิตไฟฟ้า ERU (Energy Recovery Unit) ตามลำดับ