ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
พลังงาน / สิ่งแวดล้อม ย้อนกลับ
สทนช.หวั่นแล้งลามกระทบแผนจัดสรรน้ำแล้งหน้า เร่งเสนอมาตรการป้องกันและแก้ไขภัยแล้ง 3 ระยะ ชุมครม.
31 ก.ค. 2562

สทนช.เผยอีสาน เหนือ กลาง ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าที่คาด พบ 41 จังหวัดปลูกพืชฤดูแล้งเกินแผน หวั่นแล้งลามกระทบแผนจัดสรรน้ำในฤดูแล้งหน้า เสนอมาตรการป้องกันและแก้ไขภัยแล้ง 3 ระยะ 13 มาตรการ ต่อที่ประชุมครม.เป็นการเร่งด่วน

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้เสนอภาพรวมสรุปสถานการณ์ภัยแล้งในช่วงฤดูฝนและมาตรการแก้ไขต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ และเห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อมอบหมายหน่วยงานเกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ฤดูแล้งปี 2561/62 ต่อเนื่องจนถึงต้นฤดูฝนปี 2562 พบว่า สถานการณ์ฝนในช่วงครึ่งแรกของฤดูฝน ตั้งแต่ มิ.ย. – กลาง ก.ค.62 ปริมาณฝนน้อยกว่าที่คาดการณ์ 30-40% โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เหนือ และกลาง ทำให้มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำน้อยลง ขณะเดียวกันต้องจัดสรรน้ำให้พื้นที่เกษตรมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณน้ำเหลือในอ่างฯ น้อยกว่าคาดการณ์ โดยคาดการณ์ว่าครึ่งแรกของฤดูฝนจะมีน้ำไหลเข้าอ่างฯ อยู่ที่ 7,688 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แต่ปรากฎว่ามีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ มีเพียง 3,000 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 39% โดยเฉพาะภาคเหนือ กลาง ตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันตก น้อยกว่าที่คาดไว้ต่ำกว่า 50% ขณะเดียวกัน มีการระบายน้ำจากอ่างฯ บางแห่งมากกว่าแผนเพื่อสนับสนุนพื้นที่เกษตรที่มีฝนตกน้อย ซึ่งปริมาณน้ำที่คาดการณ์ยังน้อยกว่าปี 2561 อยู่ที่ 9,718 ล้าน ลบ.ม.(ข้อมูล ณ วันที่ 15ก.ค.62) ทำให้ส่งผลกระทบการจัดสรรน้ำอุปโภคบริโภคและพื้นที่เกษตร รวมทั้งมีแนวโน้มที่จะกระทบถึงการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งหน้าโดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาด้วย

“ปัจจุบันทั้งประเทศมีปริมาณน้ำรวม 38,190 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 47% ของความจุ ซึ่งแหล่งเก็บน้ำทั้งหมดในพื้นที่ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันออก มีน้ำน้อยกว่า 50% โดยเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ถึง 20 แห่ง ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% เช่น เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก เขื่อนลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี และบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ เป็นต้น นอกจากนี้ ฤดูแล้งที่ผ่านมายังมีการใช้น้ำมากกว่า 3,589 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากเกษตรกรในพื้นที่ 41 จังหวัด ปลูกพืชฤดูแล้งมากกว่าแผนถึง 1.61 ล้านไร่” นายสมเกียรติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม สทนช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ประเมินสถานการณ์และคาดการณ์ช่วงครึ่งหลังของฤดูฝนปี’62 ตั้งแต่ ส.ค.-ก.ย.62 ประเทศไทยจะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นจากช่วงที่ผ่านมาอย่างชัดเจน และจะมีพายุเข้า 1-2 ลูก ซึ่งหากคาดการณ์ในรายพื้นที่ จะพบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก จะมีฝนเพิ่มมากขึ้นจนอาจเกิดน้ำท่วม ขณะที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนน้อยและคาดว่าจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ ใกล้เคียงกับปี 58 ซึ่งเป็นปีที่แล้งสุด แต่ปริมาณฝนรวมตลอดฤดูฝนยังคงต่ำกว่าค่าปกติ 5-10% ซึ่งมีแนวโน้มกระทบต่อภาคเกษตรและอุปโภคบริโภค ในฤดูฝนนี้ต่อเนื่องถึงฤดูแล้งหน้าเว้นแต่ในพื้นที่ดังกล่าวจะได้รับอิทธิพลจากพายุ สำหรับปริมาณน้ำใช้การใน 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ ป่าสักชลสิทธิ์ และแควน้อยบำรุงแดน อยู่ที่ 1,693 ล้าน ลบ.ม. (ข้อมูล ณ วันที่ 16ก.ค.62) แต่มีความต้องการน้ำจนถึงต.ค.62 มากกว่า 2,000 ล้าน ลบ.ม. และคาดว่าจะมีการประเมินปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างฯ ในช่วงครึ่งหลังของฤดูฝนประมาณ 5,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่ต้องเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้ง (1พ.ย.62 – 30เม.ย.63) เพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ รวมทั้งสำรองไว้สำหรับต้นฤดูฝนเผื่อกรณีฝนทิ้งช่วง (พ.ค.–มิ.ย.2563) ซึ่งจากการวิเคราะห์สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้มีความจำเป็นต้องปรับลดการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ไม่น้อยกว่า 300 ล้าน ลบ.ม. โดยมีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการปลูกพืชในฤดูแล้งได้

จากการประเมินสถานการณ์ดังกล่างข้างต้น สทนช. ได้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการวิเคราะห์สถานการณ์และการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำนอกเขตชลประทาน 83 อำเภอ 20 จังหวัด  พร้อมกำหนดมาตรการป้องกันและบรรเทาภัยแล้ง 3 ระยะ เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้แก่ ระยะเร่งด่วน ระยะสั้น และระยะยาว แบ่งเป็น 6 มาตรการเร่งด่วน คือ 1.)กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เร่งปฏิบัติการฝนหลวงเหนืออ่างฯ และพื้นที่เกษตร 2.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งสำรวจพื้นที่ขาดแคลนน้ำ พร้อมสนับสนุนเครื่องจักรเครื่องมือ 3.กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ปรับแผนการระบายน้ำ โดยเฉพาะแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% 4.)กรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ปรับลดแผนระบายน้ำ 4 เขื่อนหลักในลุ่มเจ้าพระยาแบบขั้นบันได และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงมหาดไทย เตรียมมาตรการรองรับ 5.) การประปานครหลวงวางแผนการใช้น้ำจากลุ่มแม่กลอง ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและกรมชลประทาน 6.) หน่วยงานระดับกรมและจังหวัด เร่งสร้างความเข้าใจสถานการณ์น้ำและแนวทางแก้ไข ให้ ส.ส. ในพื้นที่รับทราบภาพรวม 4 มาตรการระยะสั้น คือ 1.)เร่งรัดหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณงบกลาง รายการเงินสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น ปี 2562 ก่อสร้างซ่อมแซมฝายชะลอน้ำให้ทันต่อการรับน้ำในฤดูฝน ปี 2562 และงานขุดลอกเพิ่มความจุแหล่งน้ำ 2.) กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมปรับแผนการขุดเจาะบ่อบาดาล และซ่อมแซมล้างบ่อน้ำบาดาล ในพื้นที่ฝนตกน้อยกว่าปกติ 3.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำแผนงานโครงการเพื่อของบประมาณ ตามความสำคัญเร่งด่วน เน้นน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค  ควบคู่การเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค โดยเฉพาะพื้นที่ปริมาณฝนตกน้อยกว่า 60 มิลลิเมตรต่อเดือน 4.) บูรณาการ 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการคลัง กำหนดนโยบายช่วยเหลือผู้ประสบภัยเช่น สินเชื่อเงินด่วนหรือฉุกเฉินเพื่อสร้างอาชีพ ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตฯ พักชำระหนี้เงินต้น  สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ ชดเชยเยี่ยวยา การสร้างอาชีพเสริม ฯลฯ และ 3 มาตการระยะยาว คือ 1.)ให้หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณบูรณาการ เร่งรัดการปฏิบัติงานโครงการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ (Area Based) และโครงการแหล่งน้ำตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ให้เป็นไปตามแผน 2.) สทนช. บูรณาการจัดทำทะเบียนแหล่งน้ำ ทะเบียนผู้ใช้น้ำ แผนที่แสดงพื้นที่ชลประทาน และพื้นที่รับประโยชน์จากแหล่งน้ำ 3.)กระทรวงเกษตรและสหกรณ์บูรณาการปรับแผนการเพาะปลูกพืช และปฏิทินการเพาะปลูกเป็นการล่วงหน้าโดยเฉพาะในฤดูแล้งปี 2562/63 ให้สอดคล้องกับการคาดการณ์สถานการณ์น้ำ

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...