รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เขตสุขภาพที่ 6และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เร่งพัฒนามาตรฐานระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ทั้งทางบก ทะเล และการเคลื่อนย้ายทางอากาศ Sky Doctor ร่วมกับทหาร ตำรวจ เพิ่มการเข้าถึงบริการของประชาชนและนักท่องเที่ยว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่1 สิงหาคม 2562 ที่โรงแรมแคนทารี่เบย์ระยอง อ.เมือง จ.ระยอง ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวง เขตสุขภาพที่ 6 เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานการแพทย์ฉุกเฉินเขตสุขภาพที่ 6 และภาคกลาง เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินระหว่างผู้บริหาร นักวิชาการ ผู้ปฏิบัติการ และผู้เกี่ยวข้อง จากภาคีเครือข่ายต่างๆ ได้แก่ กองบัญชาการกองทัพไทย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปจากทุกจังหวัดภาคกลาง และโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งในเขตสุขภาพที่ 6
ดร.สาธิต กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายยกระดับระบบการจัดการในภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขอย่างครบวงจร โดยบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดระบบที่มีมาตรฐาน ประชาชนเข้าถึงระบบบริการอย่างสะดวก ได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว ลดความพิการและความเสียชีวิต โดยเขตสุขภาพที่ 6 ซึ่งมีจังหวัดที่เป็นพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) เป็นฐานการผลิตทางอุตสาหกรรม และสถานที่ท่องเที่ยวชายทะเล เกาะ และภูเขา ที่ได้รับความนิยมจากทั้งชาวไทยและต่างชาติ จึงได้กำหนดกลยุทธ์ในการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินเขตสุขภาพที่ 6 มีเป้าหมาย เพิ่มการเข้าถึงระบบบริการ ลดการเสียชีวิตจากภาวะฉุกเฉิน ร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ให้เป็นระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่มีมาตรฐาน ทั้งระบบแพทย์อำนวยการ ระบบการแพทย์ฉุกเฉินทางทะเล และการเคลื่อนย้ายทางอากาศ
ดร.สาธิตกล่าว ต่อว่า ในการดำเนินงานระบบแพทย์อำนวยการ แบ่งพื้นที่รับผิดชอบเป็น 3 โซน คือ โซนภูเขามีจังหวัดปราจีนบุรีเป็นแกนหลัก โซนทะเลจังหวัดตราด และโซน EEC จังหวัดชลบุรี และจัดทำแนวทางการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล มีการตรวจประเมินและรับรองคุณภาพระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย รวมทั้งพัฒนาห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลระยองเป็นห้องฉุกเฉินมาตรฐานระดับโลก (Smart ER) รวมทั้งขยายเครือข่ายสายด่วน ห่วงใยชีวิต ไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีศักยภาพ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทันท่วงที เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและความพิการ จากโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาในพื้นที่ อาทิเช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ/ตัน ฯลฯ โดยจังหวัดระยองได้เริ่มนำร่องแล้วที่ อบต.ตะพง โดยเชื่อมโยงกับงาน 2P safety ที่รพ.สต. ตะพงและ รพ.สต.ยายดา
ส่วนระบบการแพทย์ฉุกเฉินชายทะเล “Safety Beach Safety Trip” มีจังหวัดตราดเป็นแกนหลักในการประสานช่องทางการส่งต่อ พัฒนาการดูแลขั้นพื้นฐานที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่เกาะ ระบบการส่งต่อ และศักยภาพบุคลากร โดยร่วมมือกับโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ สำหรับการเคลื่อนย้ายทางอากาศมีจังหวัดชลบุรีเป็นแกนหลักและเป็นศูนย์รับส่งต่อ ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดระบบ Sky Doctor เขต 6 โดยร่วมมือกับทหาร ตำรวจในการสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์
“งานบริการการแพทย์ฉุกเฉินและสาธารณภัย จะไม่สามารถสำเร็จลุล่วงไปได้ ถ้าไม่มีบุคลากรที่ทำงานด้วยความเสียสละ ทุ่มเท ตั้งใจ และความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกระดับ อาทิ มูลนิธิ/สมาคม องค์กรการกุศลที่ไม่แสวงหากำไร องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ” ดร.สาธิตกล่าว