นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) และบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ว่า ตนเชื่อมั่นการบินไทยจะกลับมากำไรภายใน 3 ปี โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการแผนฟื้นฟูองค์กร เพื่อแก้หนี้สะสมเป็นระยะเวลา 10 ปี ซึ่งทางการบินไทยได้เสนอข้อมูลเกี่ยวกับ"แผนมนตรา" ที่เบื้องต้นจะต้องลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ พัฒนาการให้บริการ และการจัดหาเครื่องบินใหม่ รวมถึงในส่วนของการทำการตลาดในรูปแบบ E-Commerce และการนำระบบ Digital มาใช้ให้มากขึ้น ตลอดจนการเพิ่มสินค้า OTOP มาจำหน่ายบนเครื่องบิน
ทั้งนี้ เพื่อให้การแก้ปัญหาขาดทุน และสร้างรายได้และกำไรของทั้งการบินไทยและไทยสมายล์ได้เร็วขึ้น ได้ให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ประสานงานในเรื่องข้อขัดข้อง และทำงานร่วมกัน โดยตามแผนมนตรา กำหนดเป้าหมายการบินไทยจะมีกำไรในปี 2567 ซึ่งอาจเห็นกำไรได้ก่อนในปี 2565
ด้านนายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ดีดีการบินไทย กล่าวว่า ปัญหาเรื่องกับดักรายได้ของการบินไทย เรื่องหลักคือเครื่องบินมาอายุมาก ส่งผลให้เครื่องบินไม่เพียงพอทำให้งานบริการคุณภาพต่ำ ผู้โดยสารหนีไปใช้การบินอื่นผลสุดท้ายจึงมียอดขาดทุนสะสมนับ 10 ปี ซึ่งขณะนี้แผนจัดหาเครื่องบินใหม่ 38 ลำ วงเงิน 1.35 แสนล้านบาท อยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมก่อนเสนอมายังกระทรวงคมนาคมและขอความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ต่อไป
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหลังจากนี้ขั้นตอนจะใช้เวลาไม่นาน เพราะได้ดำเนินการมาเยอะแล้ว เชื่อมั่นว่าการบินไทยจะกลับมามีกำไรภายใน 3-5 ปี หลังจากดำเนินการตามขั้นตอนแผนฟื้นฟู อาทิ การลดต้นทุน การเพิ่มรายได้ การทำตลาดแนวทางใหม่แบบดิจิทัล (Digital Marketing) การขายสินค้าผลิตภัณฑืผ่านอีคอมเมิร์ซ รวมถึงกิจการครัวการบินไทย เป็นต้น โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้จะเป็นแกนหลักในการผลักดันรายได้นับจากนี้ เนื่องจากได้เพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสาร เช่น การเปิดเช็คอินล่วงหน้าได้ 2 สัปดาห์หรือ 4-7 วันก่อนขึ้นเครื่องแบบสายการบินต่างชาติจากปัจจุบันสามารถเช็คอินได้แค่ในวันเดินทาง ตลอดจนพัฒนางานบริการลูกค้าตั้งแต่พื้นดินถึงบนฟ้า (Ground to Sky Service)
นายสุเมธ กล่าวว่า ส่วนประเด็นหลักที่อยากส่งเสริมคือการนำสินค้า OTOP ของดีของเด่นประจำตำบล ไปจำหน่ายบนเครื่องบินหรือจะมีการเปิดหน้าร้านทั้งออฟไลน์และออนไลน์เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติได้เห็นคุณค่าของผลิตภัณฑ์คุณภาพในไทย อีกทั้งยังสะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นไทยซึ่งเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบ เพราะไม่ใช่เป็นเพียงการขายสินค้า แต่เป็นการเรื่องราวของวัฒนธรรมไทย เพิ่มมูลค่าสินค้าและแหล่งท่องเที่ยวต้นกำเนิดของสินค้าเหล่านี้
สำหรับผลิตภัณฑ์ที่สนใจเบื้องต้น คือ เสื้อใยกัญชง ซึ่งถือว่าเป็นสินค้าหัตถกรรม(Handmade Product)ที่มีคุณภาพสูงมากเป็นสิ่งที่ชาวต่างชาติรู้จักเป็นอย่างดี จึงสามารถใส่คุณค่าความเป็นไทยในตัวสินค้า นอกจากนี้ยังสนใจ ผ้าบาติก ภูมิปัญญาผ้าไทยที่สะท้อนวัฒนธรรมของชาวไทยถิ่นใต้ได้อย่างมีเสน่ห์ เชื่อว่าจะเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามหลังจากนี้จะไปทำแผนการตลาด OTOP แบ่งหมวดหมู่ประเภทสินค้าให้ชัดเจน ควบคู่ไปกับการทำมาตรฐานการขายแบบสากล (International Standard) คือ สินค้าต้องเหมือนกันกับตัวอย่างที่โฆษณา หรือเรียกว่าสินค้าตรงปก เพราะช่องทางการขายแบบนี้ผู้บริโภคอาจไม่สามารถทดลองใช้ได้ก่อนซื้อสินค้า