กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข และองค์กรเครือข่ายด้านวิชาการ จัดทำหลักสูตรชุดวิชาการเรียนรู้ออนไลน์ด้านเอชไอวี/เอดส์ ชื่อ “ddc001” รวมเนื้อหา 14 เรื่อง เพื่อให้แกนนำ อาสาสมัครและประชาชนทั่วไป สามารถเข้าถึงกลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย และสาวประเภทสอง เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเรียนได้ด้วยตัวเอง ทุกที่ ทุกเวลา ภายใต้แนวคิด “เข้าถึง เข้าใจ ง่ายแค่คลิก”
วันนี้ (8 สิงหาคม 2562)ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมนายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค Dr.Thierry Roles ผู้อำนวยการโครงการเอชไอวีและวัณโรค ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข และ ผศ.ดร.อนุชัย ธีระเรืองไชยศรี รองผู้อำนวยการโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย ร่วมเปิดกิจกรรมประชาสัมพันธ์และเปิดตัวการเรียนรู้ออนไลน์ด้านเอชไอวี/เอดส์ สำหรับเจ้าหน้าที่ภาคสนามและแกนนำเพื่อเข้าถึงกลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย และสาวประเภทสอง (MSM/TG) พร้อมมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ผ่านเกณฑ์การประเมินในรายวิชาดังกล่าว จำนวน 22 ท่าน
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวว่า ข้อมูลในปี 2561 ที่ผ่านมา กลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย มีอัตราการติดเชื้อเอชไอวี ร้อยละ 11.9 และสาวประเภทสอง มีอัตราการติดเชื้อเอชไอวี ร้อยละ 10.9 ซึ่งกลุ่มดังกล่าวนี้เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ต้องทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม ในการเข้าถึง ให้ความรู้กลุ่มเป้าหมาย ที่ภาครัฐมีข้อจำกัดและเวลาที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มเป้าหมาย กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค จึงได้ดำเนินโครงการดังกล่าวขึ้นเพื่อขยายการทำงานของภาคประชาสังคม ให้สามารถทำงานได้สะดวกมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการส่งต่อเข้ามาสู่ระบบบริการสุขภาพ ซึ่งต้องมีความรู้ ความเข้าใจในเนื้อหาต่างๆ การเรียนรู้ออนไลน์จึงตอบโจทย์ เพราะสามารถเข้าถึงได้ ทุกที่ ทุกเวลาที่ต้องการ
สำหรับหลักสูตรดังกล่าว กรมควบคุมโรค ได้ร่วมกับศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข และองค์กรเครือข่ายด้านวิชาการ จัดทำหลักสูตรชุดวิชาการเรียนรู้ออนไลน์ด้านเอชไอวี/เอดส์ ที่มีเนื้อหาสำคัญ 14 เรื่อง ประกอบด้วย
1.ความหลากหลายทางเพศ
2.ความรู้ด้านเอชไอวี/เอดส์
3.โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
4.วัณโรค
5.ตับอักเสบ
6.วิธีการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี โดยการกินยาต้านไวรัสเพื่อป้องกัน PrEP (เพร็พ) & PEP (เป๊ป) และการใช้ถุงยางอนามัย
7.การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
8.การให้บริการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี
9.จริยธรรมแกนนำและการนำผู้รับบริการเข้าสู่ระบบการรักษา
10.เพศสัมพันธ์ที่มีการใช้ยาเสพติดเป็นสิ่งกระตุ้น
11.การใช้ฮอร์โมนเพื่อสุขภาพของหญิงข้ามเพศ
12.การเปิดเผยสถานะการติดเชื้อเอชไอวี
13.ความร่วมใจในการกินยา และ
14.โภชนาการในผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า หลักสูตร E-Learning ddc001 นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้แกนนำ อาสาสมัคร และประชาชนทั่วไป ได้เข้าถึงข้อมูล สร้างการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเรื่องเอชไอวีและเอดส์ เพื่อให้มีความรอบรู้ สามารถดูแลให้การปรึกษาด้านสุขภาพ และทำงานเชิงรุกได้อย่างมีมาตรฐาน โดยหลักสูตรทั้งหมดอยู่ที่เว็บไซต์ www.thaimooc.org รหัสวิชา ddc001 ซึ่งมีจุดเด่นที่น่าสนใจ คือ หลักสูตรนี้มีคณะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จากหลายองค์กร ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมร่วมกันจัดทำขึ้น ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย สื่อประกอบการเรียนการสอนที่ช่วยให้เข้าใจเนื้อหามากขึ้น เพื่อให้ประชาชนหรือแกนนำมีความรอบรู้ มีความเข้าใจ และสามารถให้การดูแล และให้การปรึกษาด้านสุขภาพ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 02 590 3215 หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ด้าน Dr. Thierry Roles ผู้อำนวยการโครงการเอชไอวีและวัณโรค ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข ได้กล่าวแสดงความยินดี ที่ได้ร่วมงานกับกระทรวงสาธารณสุข เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนนโยบาย 90 แรกเพื่อการยุติปัญหาเอดส์ของประเทศไทย ด้วยการสนับสนุนและส่งเสริมการเข้าถึงกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีให้ได้รู้สถานะการติดเชื้อได้เร็วขึ้น โดยพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครแกนนำให้มีโอกาสเรียนรู้ความรู้พื้นฐานด้านเอชไอวี/เอดส์ได้ด้วยตนเอง ด้วยการศึกษาแนวใหม่ในรูปแบบ E-learning ซึ่งเราพร้อมจะดำเนินงานร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อพัฒนาเข้าสู่ยุคดิจิทัล Thailand 4.0
ส่วน ผศ.ดร.อนุชัย ธีระเรืองไชยศรี รองผู้อำนวยการโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย กล่าวถึง ThaiMOOC เป็นระบบการศึกษาแบบเปิดเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเปิดโอกาสการศึกษาให้ทุกคนได้เข้าถึงง่าย สะดวก โดยไม่มีเงื่อนไขและข้อจำกัดใดๆ ซึ่งเว็บไซต์ ThaiMOOC.org อยู่ภายใต้โครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร่วมมือกันพัฒนาขึ้น ภายใต้นโยบายสำคัญของรัฐบาล “ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม”