นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานแน่วแน่ในการ“สืบสานรักษาและต่อยอด" งานตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าและบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับอาณาราษฎรของพระองค์และเพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี ร่วมสืบทอดพระราชปณิธานในการ“ปลูกต้นกล้าแห่งความดี” โดยแสดงพลังจิตอาสาร่วมกับหน่วยราชการต่าง ๆ ด้วยการทำกิจกรรมจิตอาสาสร้างความสุขให้ประชาชน และสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยแก่สังคมไทย ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของประเภทกิจกรรมจิตอาสาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานไว้
สำหรับการทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นงานที่ไม่ได้เห็นผลในเร็ววัน แต่เป็นเหมือนกับการความดีปิดทองหลังพระต้องที่ทำอย่างต่อเนื่องและทำด้วยความสมัครใจ ด้วยความเป็นจิตอาสา เพราะลำพังภาครัฐเอง ก็ไม่สามารถจัดการปัญหาได้พร้อมกันทั้งหมด ต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนจิตอาสาและเครือข่ายอาสาสมัครต่าง ๆ ให้เป็นกำลังสำคัญในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตนเอง
โดย ทส. มีนโยบายสนับสนุนการทำงานของประชาชนจิตอาสา เครือข่าย ทสม. เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งองค์กรเครือข่ายอื่น ๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศให้เกิดสมดุลและความยั่งยืน และที่สำคัญ คือ การน้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นแนวทางในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและทำให้มีคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติและประชาชน
“ดังนั้น เรื่องของการจัดการขยะ การคัดแยกขยะ และจัดการขยะในชุมชนให้เป็นศูนย์ นั้นถือเป็นความภูมิใจอย่างหนึ่ง เพราะสิ่งที่ได้ทำมาตั้งแต่ต้น การเริ่มต้นเป็นสิ่งที่ยาก และการรักษาและพัฒนาสิ่งแวดล้อมก็เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาเช่นเดียวกัน ในวันนี้ ได้เห็นเป็นผลสัมฤทธ์ แล้ว หายเหนื่อย และสิ่งที่ภูมิใจที่สุดคือ การที่ทุกคนหันมาให้ความสำคัญกับการคัดแยกขยะ และขยะเหล่านี้กลับมาทำเงินให้กับชุมชนนั้น ๆ ทุกอย่างต้องใช้เวลาและความอดทน" นายจตุพร กล่าว
นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัจจุบันการทำงานด้านการจัดการขยะมีความง่ายมากขึ้น ทั้งนี้เกิดจากการวางนโยบายของรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญ และหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม ความร่วมมือกับภาคเอกชนหลายๆ แห่ง และความตื่นตัวของประชาชนเอง เมื่อคนเราหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้นจะเกิดความรักและหวงแหนในสิ่งแวดล้อม อยากให้บริเวณบ้านมีสิ่งแวดล้อมที่สะอาดและสวยงาม ดังนั้นการปลูกฝังเรื่องการจัดการขยะของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดำเนินการมาตลอดระยะเวลาหลายปี ปัจจุบันนี้ได้เห็นผลมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการจัดการขยะ และการคัดแยกขยะพลาสติกและขยะรีไซเคิล จากความร่วมมือกับภาคีเครื่อข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงประชาชน ทำให้ระยะเวลา 1 ปี ที่ผ่านมาสามารถช่วยลดขยะพลาสติกได้ 170,000 ล้านใบ นับเป็นความร่วมมือที่ดี และเล็งเห็นว่าประชาชนให้ความร่วมมือในการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
นอกจากนี้ ทางกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมมีการขับเคลื่อนให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการขยะในบริเวณชุมชนของตัวเองผ่านการประกวดโครงการชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) ที่ได้ทำมาตั้งแต่ปี 2557 จนปัจจุบันมีชุมชนที่ได้รับรางวัลไปทั้งสิ้น 7,000 ชุมชนหรือคิดเป็น 10% และจะมีการตั้งเป้าขยายให้มีชุมชนปลอดขยะถึง 70,000 ชุมชนหรือ 100% ผ่านการขับเคลื่อนของอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.)ที่มีสมาชิกในเครือข่ายกว่า 226,898 คนทั่วประเทศ ซึ่งคอยทำหน้าที่ในการประสาน ประชาสัมพันธ์ ปฏิบัติ และประเมินผล (หลัก 4 ป.) รวมทั้งขับเคลื่อนกิจกรรมโดยผ่านกลไกการทำงานในรูปแบบคณะกรรมการเครือข่าย ทสม. ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ