พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางมาเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารที่ทำการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า อาคารที่ทำการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นอาคารสูง 16 ชั้น และชั้นใต้ดิน 1 ชั้น สร้างบนเนื้อที่ 14 ไร่ 1 งาน ในพื้นที่ราชพัสดุ ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่บางส่วนของกรมชลประทาน โดย สทนช.ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ออกแบบตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง และยังออกแบบให้เป็นอาคารประหยัดพลังงานที่เลือกใช้กระจกชนิดที่มีค่าการส่งผ่านความร้อนต่ำ (U-value) เพื่อป้องกันความร้อนจากแสงแดดเข้าสู่ตัวอาคาร ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าสำหรับระบบปรับอากาศได้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งคุณสมบัติพิเศษของกระจกยังไม่ทำให้เกิดการสะท้อนความร้อนไปรบกวนพื้นที่ข้างเคียงอีกด้วย พร้อมกับจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในเดือนสิงหาคม 2562 ระยะเวลาก่อสร้าง 18 เดือน (540 วัน) โดย สทนช. ได้พิจารณาคัดเลือกโครงการนี้เข้าร่วมโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) ของกรมบัญชีกลาง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 และเป็นอาคารเขียวตามมาตรฐาน Thai’s Rating of Energy and Environmental Sustainability for New Construction (TREE-NC) ของสถาบันอาคารเขียวไทย ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้องค์ประกอบ สถานที่ยั่งยืน ระบบคมนาคมขนส่งสะดวก และมีประสิทธิภาพการใช้น้ำของอาคาร เสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในการรักษาสิ่งแวดล้อมให้กับองค์กรอีกด้วย
สำหรับอาคารแห่งนี้ นอกจากจะใช้เป็นที่อาคารที่ทำการของ สทนช. แล้ว ยังจะใช้เป็นศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ ศูนย์กลางการบริหารงานด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สามารถรองรับการประชุมนานาชาติได้อย่างสง่างาม รวมทั้งยังจะใช้เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงข้อมูลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นศูนย์วิจัยนวัตกรรม และฝึกอบรมด้านทรัพยากรน้ำ ตลอดจนใช้เป็นศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจในกรณีเกิดปัญหาวิกฤตน้ำที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยเฉพาะชั้นที่ 14 จะเป็นที่ตั้งของห้องศูนย์บัญชาการ WAR ROOM รวบรวม จัดเก็บ และวิเคราะห์ข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำของประเทศ เพื่อใช้ในการสนับสนุนการตัดสินใจด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของนายกรัฐมนตรี อีกทั้งภายในอาคารยังได้มีการออกแบบห้องศาสตร์พระราชาเพื่อเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อใช้เสริมสร้างการเรียนรู้ และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำสู่ภาคประชาชน ตลอดจนสืบสาน ต่อยอดพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 อีกด้วย