นายไพศาล บางชวด นายกสภาการสาธารณสุขชุมชน กล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้ทางสภาการสาธารณสุขได้จัดโครงการอบรมกฏหมายและจริยธรรมสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน รุ่น 1 แห่งปี2562เป็นครั้งแรกของประเทศพร้อมทั้ง ขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน สำหรับการอบรมจริยธรรมและกฎหมายกับผู้ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนในครั้งนี้ จะเป็นเรื่องของทางวิชาการ ความรู้ และสาระเนื้อหาที่เกี่ยวกับหลักจริยศาสตร์ หลักจริยธรรมและหลักจรรยาบรรณทางวิชาชีพ”
ที่ผ่านมาสภาฯ ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว 3 รอบ ในช่วง 2 รอบแรกของปี 2561 มีผู้สอบผ่านความรู้ไปประมาณ 17,000 คน จากจำนวนรวมผู้สมัครสอบทั้งสองรอบกว่า 20,000 คน สอบผ่านความรู้ด้วยตนเองประมาณ 20-30% แต่เมื่อรวมคะแนนเทียบเคียงมาตรฐานความรู้อื่น หรือจะเรียกง่าย ๆ ว่า คะแนนเกื้อกูลประสบการณ์ ตัวเลขผู้สอบผ่านพลิกกลับทันทีเป็น สอบผ่าน 70-80% ที่สำคัญ ตนเองมีความภูมิใจในความเป็นหมออนามัยและนักสาธารณสุขของทุกท่าน สำหรับการสอบความรู้ทั้ง 3 รอบ ไม่พบการทุจริตใด ๆ จากสมาชิกผู้เข้าสอบทุกท่าน ใบอนุญาตมีอายุ5ปี
ตนและคณะกรรมการสภาทั้ง 24 ท่าน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นสภานายกพิเศษ ได้ดำเนินการพิจารณาและออกกฎหมายลูกหรือกฎหมายลำดับรองไว้เสร็จสิ้นแล้วรวมกว่า 33 ฉบับ มีทั้ง ระเบียบ ประกาศ และข้อบังคับต่าง ๆ ที่เป็นอำนาจขอบเขตของสภาฯ และอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะสภานายกพิเศษ แต่ยังมีกฎหมายลำดับรองที่สำคัญ ๆ อีก เช่น ระเบียบว่าด้วยการตรวจประเมินและบำบัดโรคเบื้องต้น ข้อบังคับที่เกี่ยวกับการตรวจประเมินช่วยเหลือผู้ป่วยเพื่อส่งต่อ เป็นต้น ค้างท่ออยู่ในกระบวนการพิจารณาให้ความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
“ตนรับทราบความรู้สึกของสมาชิกทุกท่านเป็นอย่างดี กับความคาดหวังที่รอคอยกว่าจะมีกฎหมายวิชาชีพฉบับนี้ จนกระทั่งพวกเราชาวสาธารณสุขและหมออนามัยได้ขับเคลื่อนกฎหมายในนามประชาชน จนสำเร็จ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2556 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสภาต่างให้การยอมรับการเกิดและมีวิชาชีพนี้ในสังคมไทย ด้วยมติเป็นเอกฉันท์ 382 คะแนน ไม่มีเสียงใดเสียงหนึ่งคัดค้านแม้แต่เสียงเดียว ซึ่งนายไพศาลมองว่านั่นคือ ธงเป้าหมายแรก ที่มีร่องรอยเป็นตำนานทางประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ผลักดันให้มีกฎหมายวิชาชีพด้วยความอดทน กล้าหาญ และมีความเป็นเอกภาพเดียวกัน จนสำเร็จถือเป็นชัยชนะและเกิดวลีเด็ด “ร้อยปีหมออนามัยสู้ชนะ” ..
นายไพศาลกล่าวว่า ในฐานะนายกสภาการสาธารณสุขชุมชน และคณะกรรมการสภาทั้ง 24 ท่าน ซึ่งมีคณะอนุกรรมการต่าง ๆ ขับเคลื่อนภารกิจของสภาและนโยบายที่วางไว้ จนสำเร็จลุล่วงไปเกือบครบถ้วนทั้งหมด ยังคงเหลือภารกิจเกี่ยวกับงานศึกษาวิจัยด้านมาตรฐานคุณวุฒิการศึกษา สาขาสาธารณสุขศาสตร์ หรือเรียกว่า มคอ.1 สำหรับสถาบันการศึกษาที่ผลิตบัณฑิตด้านสาธารณสุขที่มีกว่า 100 กว่าแห่ง ซึ่งจะต้องมีมาตรฐานใกล้เคียงกัน หรือเป็นมาตรฐานเดียวกัน และมีงานวิจัยอีกเรื่องที่จะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนหมดวาระของคณะกรรมการชุดนี้ งานวิจัยที่เกี่ยวกับมาตรฐานวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน ถือว่าเป็นงานวิจัยที่จะไปตอบโจทย์ เรื่อง การออกข้อบังคับว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน มาตรฐานจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ และการกำหนดทิศทางความก้าวหน้าของผู้ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน
เพื่อให้มีการขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่องทางสภาฯจึงฝากเรื่องสำคัญถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเร่งดำเนินการใน4เรื่อง ดังต่อไปนี้ ข้อ1 การกำหนดมาตรฐานกำหนดตำแหน่งใหม่ของนักวิชาการสาธารณสุข ที่เป็นตำแหน่งทางวิชาชีพ ไม่ใช่ตำแหน่งทางวิชาการ ซึ่งจะไปเกี่ยวข้องกับหน่วยงานระดับนโยบาย ซึ่งเป็นหน่วยงานในกำกับของสำนักนายกรัฐมนตรี อาทิ สำนักงาน ก.พ. กระทรวงสาธารณสุข สำนักงบประมาณ หรือกระทรวงการคลัง เป็นต้น ข้อ2. การกำหนดอัตราค่าตอบแทนวิชาชีพ เหมือนกับทุกวิชาชีพ เช่น แพทย์ พยาบาลวิชาชีพ เภสัชกร ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณสำหรับเป็นค่าตอบแทนวิชาชีพให้กับผู้ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน รวมไปถึงเงินประจำตำแหน่ง หรือเงินตอบแทนอื่น ๆ
ข้อ3 การกำหนดกรอบอัตรากำลังและโครงสร้างรองรับผู้ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน ให้เกิดความเป็นธรรมและเสมอภาค ข้อ4 เสนอขอแก้ไขปรับปรุงกฎหมายใหม่ เนื่องจากส่งผลกระทบเมื่อมีพระราชบัญญัติวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน พ.ศ. 2556 ตลอดจนกฎ ระเบียบ ประกาศ และข้อบังคับต่าง ๆ ที่มีผลใช้บังคับแล้ว และมีผู้ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว อาทิ พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติสถานประกอบการ เป็นต้น