กรมส่งเสริมการเกษตรจับมือเครือข่าย เปิดเวทีเสวนาถอดบทเรียนผลสำเร็จขับเคลื่อนนโยบายแปลงใหญ่ ปรับกลยุทธ์รับแผนยุทธศาสตร์ชาติ เน้น “รวมพลังแปลงใหญ่ สร้างเครือข่ายเข้มแข็ง” พร้อมเปิดตัวระบบฐานข้อมูลแปลงใหญ่ http://co-farm.doae.go.th
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับกรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมหม่อนไหม และกรมการข้าว จัดเวทีเสวนา “รวมพลังแปลงใหญ่ สร้างเครือข่ายเข้มแข็ง” เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองการขับเคลื่อนนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ ในงาน Meet the Press ครั้งที่ 2 โดยมีนางมาลินี ยุวนานนท์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร นายธนันท์ หาญเกริกไกร รักษาการผู้เชี่ยวชาญ ด้านการส่งเสริมการผลิตข้าว กรมการข้าว นายบัญชา สุขแก้ว ผู้อำนวยการกองนโยบายและยุทธศาสตร์พัฒนาการประมง กรมประมง นายวิวัฒน์ ไชยชะอุ่ม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ และนางชุติกาญจน์ รัชตะปิติ ผู้อำนวยการศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา กรมหม่อนไหม ร่วมเสวนา ณ ห้องประชุมชั้น 5 อาคาร 1 กรมส่งเสริมการเกษตร
นางมาลินี ยุวนานนท์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การขับเคลื่อนเกษตรแปลงใหญ่ เป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นแนวทางหนึ่งในการปฏิรูปภาคการเกษตร “เกษตรแปลงใหญ่” จึงตอบโจทย์ ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระยะยาว เพราะส่งเสริมให้เกิดการรวมกันของพื้นที่เกษตรกรรายย่อย และมาบริหารจัดการการผลิตร่วมกัน มีแผนการผลิต แผนการแปรรูป ใช้วิธีการและเทคโนโลยีการผลิตที่เหมือนกัน ตลอดห่วงโซ่อุปทาน จะส่งผลให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตการเปลี่ยนแปลงที่เห็นผลได้ชัดคือ ทุกแปลงมีต้นทุนการผลิตที่ลดลงมีสัดส่วนของผลผลิตที่เพิ่มขึ้นสามารถสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจฐานรากอย่างชัดเจน คือ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น จากการปรับเปลี่ยนวิธีการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต
จากสถิติการสนับสนุนระบบพัฒนาแปลงใหญ่ เช่น กลุ่มข้าว มีรายได้สุทธิทางการเกษตรเฉลี่ย 1,383 บาท/ไร่ เพิ่มขึ้น 115 บาท/ไร่ ไม้ผล มีรายได้สุทธิทางการเกษตรเฉลี่ย 34,491 บาท/ไร่ เพิ่มขึ้น 2,091 บาท/ไร่ ประมง มีรายได้สุทธิทางการเกษตรเฉลี่ย 8,028 บาท/ไร่ เพิ่มขึ้น 2,138 บาท/ไร่ ปศุสัตว์ มีรายได้สุทธิทางการเกษตรเฉลี่ย 37,126 บาท/ไร่ เพิ่มขึ้น 25,442 บาท/ไร่ นอกจากนี้ ยังเกิดการเปลี่ยนแปลงในมิติสิงแวดล้อม สังคม สุขภาพ
อย่างไรก็ตาม การทำงานแปลงใหญ่จำเป็นที่จะต้องทำงานเป็นเครือข่าย โดยบูรณาการทำงานร่วมกัน ปัจจุบัน เครือข่ายแปลงใหญ่ ประกอบด้วย 3 เครือข่าย ได้แก่ 1.เครือข่ายเกษตรกร มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการขับเคลื่อนและพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรแบบแปลงใหญ่ และเพื่อให้เกษตรกรสมาชิกแปลงใหญ่ทั่วประเทศมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการขับเคลื่อนดังกล่าว โดยใช้กลไกการขับเคลื่อนในรูปแบบของคณะกรรมการเครือข่ายแปลงใหญ่ซึ่งได้แบ่งเป็น 4 ระดับ คือ ระดับประเทศ ระดับเขต ระดับจังหวัด และระดับอำเภอ
2.เครือข่ายบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐ มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงความร่วมมือของหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลและให้การสนับสนุนการดำเนินงานแปลงใหญ่ของเกษตรกร และ3.เครือข่ายความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ-ภาคเอกชน-เกษตรกร มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดการพัฒนาสินค้าเกษตรแบบแปลงใหญ่ให้เกิดความยั่งยืน โดยหน่วยงานภาครัฐสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรในการพัฒนาการผลิตสินค้า ภาคเอกชนเชื่อมโยงกับเกษตรกรในการซื้อขายสินค้า ส่วนเกษตรกรร่วมกันบริหารจัดการการผลิต การตลาด และกระบวนการกลุ่ม
“เกษตรแปลงใหญ่จะเดินหน้าไม่ได้ ถ้าเครือข่ายไม่สามารถทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ การเสวนาเพื่อร่วมกันถอดบทเรียนความสำเร็จจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะใช้ในการปรับแผนงานในอนาคต เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมทั้งการมีระบบฐานข้อมูล co-farm.doae.go.th เพื่อรองรับแผนการผลิตให้ผู้ประกอบการ สามารถเข้ามาวางแผนและบริหารจัดการสินค้าเกษตร และสามารถติดต่อกลุ่มเกษตรกรได้เองในอนาคตต่อไป”นางมาลินี กล่าว