นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย และนายธีรวัฒน์ วุฒิคุณ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนงานส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพระดับพื้นที่ ปี 2563 (PP Meeting) เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้มาตรการ แนวทาง และนวัตกรรมการดำเนินงานระดับพื้นที่ สร้างความมั่นใจให้กับประชาชน เพื่อให้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมชูจังหวัดบุรีรัมย์ แม้เป็นเมืองรองแต่เป็นเมืองต้นแบบเมืองแห่งสุขภาพดี (Healthy City) ส่งเสริมการออกกำลังกาย การกีฬา และการท่องเที่ยว ที่สำคัญมีการระดมพลังทางสังคมและทรัพยากรทั้งจังหวัดร่วมกัน เพื่อสร้างสังคมแห่งสุขภาวะสุขภาพของจังหวัดบุรีรัมย์ที่เข็มแข็งและยั่งยืน โดยผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/ โรงพยาบาลทั่วไป และศูนย์วิชาการเขตของกรมควบคุมโรคและกรมอนามัย รวมถึงผู้ปฏิบัติงานด้านส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันควบคุมโรค อนามัยสิ่งแวดล้อม และด้านยุทธศาสตร์สาธารณสุข ระดับพื้นที่ รวมประมาณ 850 คน
นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพ งานป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ และงานอนามัยสิ่งแวดล้อมในระดับพื้นที่ รองรับการเปลี่ยนแปลงด้านสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม วิถีชีวิต พฤติกรรมสุขภาพ และสภาพแวดล้อม ซึ่งส่งผลให้แนวโน้มการป่วยและตายด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือโรค NCDs เพิ่มมากขึ้น อาทิ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งโรคติดต่อประจำถิ่น เช่น ไข้เลือดออก โรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน เช่น หัด คอตีบ โรคที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางท่องเที่ยว เช่น โรคไข้มาลาเรีย และผลกระทบจากมลพิษสิ่งแวดล้อมต่อสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข จึงได้มอบให้กรมควบคุมโรคและกรมอนามัย ร่วมมือกับเครือข่ายสร้างความเข้มแข็งการดำเนินงานในทุกระดับ เฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพ ส่งเสริมสุขภาพ เน้นเรื่องอาหารปลอดภัย และการออกกำลังกาย เพื่อลดเสี่ยง ลดป่วย ลดตาย ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีพื้นที่เป็นฐานและประชาชนเป็นศูนย์กลาง
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ในการดำเนินงานจะต้องนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ ตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุขที่ว่า “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ร่างกายแข็งแรง ทำให้เศรษฐกิจประเทศแข็งแรง” โดยความร่วมมือกับเครือข่ายภาครัฐ ประชาชน ท้องถิ่น เอกชน จิตอาสา ให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ลดความเหลื่อมล้ำ ลดการรอคอย และลดภาระค่าใช้จ่าย ยกระดับอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ให้เป็นหมอประจำบ้าน ผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุข เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ให้ยึดหลักธรรมาภิบาล ความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน และตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้ดียิ่งขึ้น