นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า กลุ่ม ปตท. กล่าวว่า GPSC ได้ร่วมลงนามกับ นายวรวัฒน์ พิทยศิริ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและดิจิทัล บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในสัญญาร่วมวิจัย โครงการ “วิจัยและพัฒนาโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ (Pilot Plant) ด้วยเทคโนโลยีเซมิ-โซลิด (Semi-Solid)” เพื่อร่วมศึกษา และพิสูจน์ความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี ทั้งด้านเทคนิคและเชิงเศรษฐศาสตร์ และการจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ เพื่อที่จะเดินหน้าวิจัยและต่อยอดการผลิตแบตเตอรี่ด้วยเทคโนโลยี Semi-Solid ซึ่งเป็นนวัตกรรมกระบวนการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบใหม่ของ 24M Technology ที่ GPSC เข้าไปร่วมลงทุน ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยลดขั้นตอนการผลิตลงได้กว่า 50% อีกทั้งยังได้รับการออกแบบเซลล์แบตเตอรี่ให้มีความปลอดภัยสูง อันจะช่วยให้มีประสิทธิภาพที่จะแข่งขันได้ในธุรกิจแบตเตอรี่และเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน (ESS) ในระยะยาว รวมถึงเป็นฐานความรู้ และความเชี่ยวชาญเพื่อนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพบุคคลากรของทั้งสองบริษัทด้านเทคโนโลยีแบตเตอรี่ โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ความร่วมมือในครั้งนี้สอดคล้องกับกลยุทธ์ทางด้านพลังงานของ กลุ่ม ปตท. ที่มุ่งใช้พลังงานไฟฟ้าที่มากขึ้น โดยมีแบตเตอรี่เป็นรากฐาน และเป็นตัวผลักดันที่สำคัญ
“ปตท. มีความพร้อมและยินดีเป็นอย่างยิ่งกับความร่วมมือระหว่างกลุ่ม ปตท. และพร้อมจะสนับสนุนการศึกษา พัฒนา และร่วมกันผลักดันเทคโนโลยี Semi-Solid ให้มีประสิทธิภาพที่แข่งขันได้ และต่อยอดไปสู่การผลิตระดับเชิงพาณิชย์” นายชาญศิลป์กล่าว
ทั้งนี้ในระยะเวลาภายใน 15 วันหลังการลงนาม ทั้งสองฝ่ายจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการ (Steering Committee) รวม 7 คน โดยมีประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม ปตท. เป็นประธาน ในส่วนของกรรมการท่านอื่น จะมาจากผู้บริหารระดับสูงของทั้ง 2 บริษัท เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลความก้าวหน้าและติดตามผลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด
การดำเนินการในระยะแรก คณะกรรมการฯ จะทำการแต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อดำเนินการศึกษาในรายละเอียด ในการหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแบตเตอรี่เทคโนโลยี Semi-Solid จัดทำแผนการก่อสร้าง แผนการควบคุมการผลิตและทดสอบ กำหนดตัวชี้วัด และเกณฑ์การพิจารณา เพื่อเป็นขั้นตอนพิสูจน์ความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีทั้งทางด้านเทคนิค และเศรษฐศาสตร์ รวมทั้งจัดทำงบประมาณในการดำเนินการผลิตแบตเตอรี่ เพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่ต้นแบบ (Pilot Plant)
ในระยะถัดไป หากทั้งสองฝ่ายตัดสินใจร่วมดำเนินการลงทุนก่อสร้าง Pilot Plant แล้วจะมีการกำหนดแผนการผลิต และดำเนินการผลิตแบตเตอรี่จากโรงงานต้นแบบตามตัวชี้วัด และเกณฑ์ที่กำหนดไว้ พร้อมมีการส่งมอบแบตเตอรี่ที่ผลิตได้ นำไปสู่การใช้จริง โดยผ่านการทดสอบจากกลุ่มลูกค้า เพื่อนำข้อเสนอแนะจากลูกค้ากลับมาพัฒนาแบตเตอรี่ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น และร่วมกันพิจารณาถึงความเป็นไปได้ทั้งทางเทคนิค และเศรษฐศาสตร์ในการขยายการผลิตสู่ระดับเชิงพาณิชย์ร่วมกัน (Commercial Scale) ต่อไป