ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ย้อนกลับ
ขาดน้ำ!!! ภาวะตื่นผวาบ่อยของคนกรุง วาระประหยัดแผนระยะยาวที่ยังไม่เห็น??
18 มี.ค. 2559

               เรียกว่าเล่นเอาผู้คนจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะชาวกทม.ต้องวิ่งกรูกันออกไปไล่กวาดซื้อเก็บตุนน้ำเอาไว้ล่วงหน้า ชนิดน้ำขวด น้ำดื่ม เกลี้ยงแฝงซูเปอร์มาร์เก็ต

ด้วยเหตุว่าด้วยเรื่องภัยแล้งของเจ้าเก่าคนเดิม ดร.สมิทธ ธรรมสโรช  ประธานมูลนิธิเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ที่ออกมาป่าวประกาศเตือนซึ่งเป็นอะไรที่หนักหน่วงรุนแรง น่าเป็นห่วงพอๆ กับเมื่อครั้งเคยออกมาเตือนภัยสึนามิเอาเลยก็ว่าได้ เพราะเรียกว่าอาจถึงขั้นไม่มีน้ำดื่ม น้ำกิน น้ำใช้ ไปทั้งกทม. ซึ่งหากเป็นจริงคนเมืองกรุงอาจถึงขั้นต้องมีกำหนดตารางเวลาปิด-เปิด แบ่งระยะการใช้น้ำไปเป็นช่วงๆกันเลยทีเดียว

                โดยนายสมิทธ ได้กล่าวว่า เป็นห่วงประชาชน จึงออกมาเตือนน้ำในเขื่อนมีไม่พอใช้ โดยเฉพาะเดือน มี.ค. - เม.ย.นี้ ภัยแล้งจะทวี อากาศร้อนจะรุนแรง คนกรุงเทพฯน่าห่วงมากอาจขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ เพราะเจอปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำเข้าระบบประปา ซึ่งการการประปา ต้องมีแผนสำรองไว้ว่าจะหาน้ำดิบจากไหนมาผลิต ส่วนที่กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิต บอกว่ามีน้ำเพียงพอได้ถึงเดือน มิ.ย.นั้น ไม่ถึงแน่นอน เพราะปริมาณน้ำที่เห็นเป็นระดับน้ำตาย น้ำก้นเขื่อนที่มีตะกอนอยู่ เกินครึ่งสูบมาใช้ไม่ได้

                นั่นเองคือที่มาของภาพการแห่เข้าไปซื้อน้ำดื่ม น้ำใช้ออกมาเก็บกักตุนไว้เมื่อไม่กี่วันก่อน และเหตุการณ์ทำนองนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อช่วงเดือนกรกฏาคมปีที่แล้ว โดยนายธนศักดิ์ วัฒนฐานะ ผู้ว่าการประปานครหลวง เป็นผู้ออกมาบอกว่าหากยังไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มประชาชนในกรุงเทพฯจะมีน้ำประปาไว้ใช้สอยต่อไปได้เพียงแค่ 30 วันเท่านั้นพร้อมประกาศให้ผู้ใช้น้ำกักตุนน้ำดื่มจำนวน 60 ลิตรไว้ในยามฉุกเฉิน

                สำหรับการผลิตน้ำประปานั้น การประปานครหลวงมีกำลังการผลิตน้ำประปา 5.2 ล้านคิวบิกเมตร/วัน สำหรับผู้ใช้น้ำร่วม 2.2 ล้านคน ที่รวมไปถึง โรงงาน ธุรกิจ และห้างร้านต่างๆ ซึ่งสิ่งที่หน่วยงานรัฐทำได้คือการขอให้คนกรุงเทพฯ ลดปริมาณการใช้น้ำลง แต่จากข้อมูลของผู้ว่าการประปานครหลวงแจ้งว่าเพราะราคาต่อหน่วยของปริมาตรน้ำที่ผู้ใช้ต้องจ่ายเป็นราคาที่ถูกมากคือ 8.50 บาท/1,000 ลิตรจึงทำให้การขอร้องให้ประชาชนประหยัดน้ำล้มเหลว

                "เป็นเพราะมีราคาถูกมากจนเกินไปจึงทำให้ผู้ใช้ไม่เห็นคุณค่าที่ต้องประหยัดน้ำและอัตรานี้กำหนดมาตั้งแต่ปี 2542 แล้ว และอาจกล่าวได้ว่าเป็นนครที่ใหญ่แต่มีราคาน้ำประปาที่ถูกที่สุดในโลกก็ว่าได้" ผู้ว่าการประปานครหลวง กล่าว

                นายธนศักดิ์ ยังเปิดเผยถึงแผนจะเริ่มพิจารณาในโครงการระยะยาว 30 ปีเพื่อ (1) ประเมินความต้องการน้ำสำหรับการใช้สอย (2) การหาแหล่งน้ำใหม่ และ (3) การสร้างเครื่องป้องกันน้ำเค็ม

                สำหรับกรุงเทพมหานครก็ได้จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งประจำปี 2559 ทั้งม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็จัดการประชุมแก้ปัญหาภัยแล้งที่มีพื้นที่เกษตรกว่า 1.98 แสนไร่ใน กทม. เพื่อหาพื้นที่แก้มลิงรองรับน้ำเพิ่มรวมทั้งลงพื้นที่ตรวจสอบการติดตั้งชุดเครื่องสูบน้ำดิบเพิ่มทั้งจากการประปานครหลวงและ กทม.

                อย่างไรก็ตามสถานการณ์ภัยแล้งในกรุงเทพฯนั้นดูเหมือนว่าจะหนักขึ้นทุกปี โดยเฉพาะปีนี้ที่มีการคาดการณ์กันว่าฤดูแล้งจะกินเวลายืดยาวออกไปถึง 4 เดือนโดยเฉพาะฝั่งตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมส่วนใหญ่อาจจะมีปัญหาในเรื่องการขาดแคลนน้ำทั้งนี้ก็เพราะปรากฏการณ์ เอลนิโญ่ ที่ยังคงไม่ไปไหนหากแต่ได้ขยายตัวในหลายพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งยังไม่มีวี่เเววจะหยุดลงได้

                ย้อนไปเมื่อต้นปีที่แล้วกรุงเทพมหานคร ได้ตั้ง " ศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจส่วนหน้าแก้ไขปัญหาภัยแล้งกลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก-ตะวันตก" ให้เป็นหน่วยงานภาคสนามทำหน้าที่ประสานงานและช่วยเหลือประชาชนที่ในเรื่องการสำรองน้ำ จัดเตรียมแท็งก์น้ำ การเข้าระงับเหตุไฟไหม้หญ้าในพื้นที่18 จุดใน 9 เขตกลุ่มกรุงเทพฯ ตะวันออกประกอบด้วย เขตคลองสามวา คันนายาว บางกะปิ บึงกุ่ม ประเวศ มีนบุรี ลาดกระบัง สะพานสูง และหนองจอกซึ่งในพื้นที่เหล่านี้ส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรมและนาข้าวถึง 1.7  แสนไร่ จำเป็นต้องใช้น้ำเลี้ยงชีวิตทั้งคนและพืชสวนไร่นา

                ที่ผ่านมากทม.ได้ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนโดยให้สำนักงานเขตเร่งประชาสัมพันธ์เตือนประชาชนเตรียมพร้อมสำรองน้ำ ส่วนภาคการเกษตรขอให้ใช้น้ำน้อยตามการปล่อยน้ำของกรมชลประทาน และมอบหมายให้สำนักสิ่งแวดล้อมเตรียมรถบรรทุกน้ำและแท็งก์น้ำไปประจำตั้งวางในจุดที่ขาดแคลน ส่วนสำนักการระบายน้ำให้เตรียมพร้อมหน่วยเบสท์ และเครื่องสูบน้ำเพื่อดึงน้ำจากคลองสายหลักในการช่วยเหลือเกษตรกร ขณะที่สำนักการแพทย์และสำนักอนามัยเตรียมเวชภัณฑ์และเฝ้าระวังโรคที่อาจเกิดขึ้นในฤดูแล้ง

                และเมื่อพลิกดูสถิติพื้นที่เขตที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเมื่อปี 2557 พบว่าพื้นที่ที่ประสบภัยขาดน้ำมีแค่ 4 เขต ได้แก่ มีนบุรี ลาดกระบัง หนองจอก และคลองสามวา โดยจำนวนครัวเรือนที่ประสบภัยขาดน้ำมี 629 ครัวเรือน

                ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤติขาดน้ำนั้นเป็นภาระของการประปานครหลวง (กปน.) ต่ออนาคตคนกรุงเทพฯในการเร่งผลิตจ่ายน้ำให้เพียงพอกับประชาชน โดยกปน.ต้องผลิตน้ำประปาจากโรงผลิตน้ำบางเขน ซึ่งดึงน้ำดิบมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งหากปริมาณน้ำในเขื่อนหลักเหลือน้อยก็ต้องลดกำลังการผลิตลงด้วยเช่นกัน ส่วนโรงผลิตน้ำโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ซึ่งรับน้ำดิบจากเขื่อนแม่กลอง จังหวัดกาญจนบุรี มีอัตรากำลังผลิตปกติอยู่ที่ 1.6 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งโรงผลิตน้ำทั้ง 2 แห่งเป็นหัวใจหลักต่อการผลิตน้ำดื่มน้ำใช้ให้คนกรุงเทพฯเฉลี่ย 4 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน

                การรับมือสถานการณ์ภัยแล้งเมื่อปี 2558 นั้นกปน.ได้ลดกำลังผลิตน้ำลง 10 เปอร์เซ็นต์ เพื่อยืดเวลาให้ตรงกับฝนตามที่คาดการณ์ว่าจะเริ่มตกในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม เช่นเดียวกับสถานการณ์ภัยแล้งเมื่อครั้งอดีตอย่างปี 2530 และ 2541 ที่ในขณะนั้นหลายพื้นที่ของประเทศอยู่ในสภาวะเเล้งจัด แต่กปน.ก็ไม่หยุดการผลิตน้ำ โดยบริหารจัดการน้ำที่เหลืออยู่ และรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันประหยัดน้ำไม่ให้ปัญหาภัยแล้งลุกลาม

                ทั้งนี้กปน.ได้ออกแผนการรับมือสถานการณ์ภัยแล้งปี 2558 โดยในรายงานระบุถึงการติดตามปริมาณน้ำดิบด้านตะวันตกของประเทศที่มีเขื่อนใหญ่อย่างเขื่อนศรีนครินทร์และได้ร่วมกับกรมชลประทานลงพื้นที่สำรวจเส้นทางการผันน้ำแม่กลองมายังแม่น้ำเจ้าพระยา รวมระยะทาง 143 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเส้นทางบรรเทาปัญหาหากมีน้ำทะเลหนุน ส่วนประชาชนชาวกรุงเทพฯจะเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งอย่างไรนั้น กปน.จะแจ้งล่วงหน้า 3-4 วัน

                ส่วนกรุงเทพมหานครได้สั่งให้หน่วยงานเตรียมแผนรับมือภัยแล้งแต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนกเกินไป โดยได้ประสานไปยังการประปานครหลวงให้จัดจุดจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคสำหรับประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ในกรณีเกิดปัญหาภัยแล้ง และพื้นที่ทำการเกษตรได้ขอให้ประชาชนปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทน หรือเปลี่ยนอาชีพชั่วคราวในช่วงฤดูแล้งโดยจะมีสำนักพัฒนาสังคม กทม.เข้าไปช่วยเหลือ

                ก่อนหน้านี้ นายวสันต์ มีวงษ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม.ได้บอกว่า กทม.ได้ทำเอ็มโอยูกับการประปานครหลวงในการติดตั้งท่อประปาในพื้นที่ห่างไกล ทำให้ขณะนี้เหลือพื้นที่ที่ประปาเข้าไม่ถึงเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

                ทั้งนี้เมื่อดูสาเหตุของสถานการณ์ภัยแล้งของคนเมืองกรุงนั้น แน่นอนว่านี่คือภัยจากธรรมชาติที่เกิดจากฝนทิ้งช่วงทำให้เติมน้ำในบริเวณแหล่งต้นน้ำในการผลิตทำน้ำประปาไม่ทัน รวมไปถึงภัยคุกคามจากน้ำเค็มที่หนุนเข้าแหล่งน้ำและเปลี่ยนให้น้ำจืดเป็นน้ำกร่อย ทำให้การประปานครหลวงต้องงดใช้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อผลิตน้ำ ทั้งการพยายามรักษาระดับน้ำในเขื่อนหลัก เพราะโดยปกติแล้วระดับน้ำฝนและน้ำในเขื่อนจะช่วยกั้นไม่ให้น้ำเค็มจากอ่าวไทยไหลเข้ามา เมื่อน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยากลายเป็นน้ำกร่อยมีรสชาติเค็มเล็กน้อย ไม่สามารถใช้ทำการเกษตรได้ เและยังทำลายสถานีสูบน้ำที่ต้องดูดน้ำจากแม่น้ำร่วม 100 กิโลเมตรลงสู่อ่าวด้วย

                ทั้งหมดจึงเป็นสถานการณ์ภัยแล้งในกรุงเทพฯ ที่หน่วยงานรัฐและประชาชนเตรียมรับมือ เพราะไม่มีใครรู้ได้ว่าภาวะภัยแล้งจะมีแนวโน้มรุนแรงและยาวนานแค่ไหน ฉะนั้นการทบทวนเรื่องการสร้างเขื่อน การวางแผนรับมือป้องกันในระยะยาวไม่ใช่เพียงคิดทำกันในแบบปีต่อปี เหนืออื่นใดคือการสร้างสำนึกประหยัดน้ำร่วมกัน ซึ่งวันนี้ต้องถามคนเมืองกรุงว่ามีจิตสำนึกในเรื่องนี้อย่างจริงจังแล้วหรือยังจะได้ไม่ต้องตื่นผวาบ่อยๆ ???

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...