นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงแนวทางการขยายสัมปทานทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) เพื่อยุติข้อพิพาทกับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ว่า การพิจารณาตัดสินใจว่าจะขยายเวลาหรือไม่ต้องมีข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด ตั้งแต่ ผลการศึกษา ทีโออาร์ สัญญา การปฏิบัติตามสัญญา การเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครบถ้วนหรือไม่ เพราะหากข้อมูลไม่สมบูรณ์แล้วไปต่อสู้จนเกิดผลว่าแพ้ อีกฝ่ายก็พลิกคดีได้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะทำงานฯที่มีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ซึ่งจะรายงานในวันที่ 27 ส.ค.นี้
รมว.คมนาคม กล่าวหลังเป็นประธานการประชุมแนวทางในการแก้ไขปัญหาของกรมทางหลวง (ทล.) และ กทพ. เพื่อติดตามงานและหาแนวทางแก้ไขปัญหาของทั้งสองหน่วยงาน โดยมอบหมายให้เร่งแก้ปัญหารถติดบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทาง ทั้งทางหลวง ทางพิเศษ และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) โดยให้ทำการศึกษาและจัดทำแผนเพื่อให้รถผ่านด่านเก็บเงินได้อย่างรวดเร็ว ลดความแออัดของรถหน้าด่าน
ทั้งนี้ ได้มอบแนวทางการดำเนินงานโดยแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน ช่อง Easy Pass /M Pass มีแนวทางให้ยกไม้กั้นขึ้นค้างไว้ในช่วงเวลาเร่งด่วน และจัดหาเจ้าหน้าที่ประจำช่องทางเฝ้าระวังเพื่อป้องกันปัญหารถฝ่าด่าน ส่วนช่องเงินสด ให้จัดจ้างบุคคลภายนอกมาช่วยจำหน่ายคูปองเงินสดรถที่รอต่อคิวในช่วงเวลาเร่งด่วน
ส่วนระยะยาว ให้นำกล้องวงจรปิดมาใช้และบูรณาการเชื่อมต่อข้อมูลกับกรมการขนส่งทางบก เพื่อป้องกันปัญหาอาชญากรรม ลดอุบัติเหตุ เพิ่มความปลอดภัยอย่างยั่งยืน
ส่วนแนวคิดปรับลดค่าผ่านทางพิเศษทุกประเภท ทั้งทางพิเศษ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง โทลล์เวย์ เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชนนั้น คงไม่นำภาษีของประชาชนทั้งประเทศมาอุดหนุน แต่หากโครงการใดเป็นการร่วมทุนกับเอกชนก็ให้ไปพิจารณาศึกษารายได้ในอนาคตว่ามีวิธีนำออกมาใช้ได้อย่างไร และเมื่อสิ้นสุดสัญญาจะทำอย่างไรเพื่อชดเชยความสูญเสียดังกล่าว โดยต้องดูตัวเลขให้ชัดเจน ต้องสามารถอธิบาย ตอบคำถาม และตรวจสอบได้
พร้อมกันนั้นยังเน้นย้ำนโยบายเรื่องความปลอดภัย ต้องมีการซักซ้อมอย่างสม่ำเสมอ และเฝ้าระวังการเกิดเหตุตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเรื่องการทำสัญญากับเอกชนขอให้พิจารณาสัญญาอย่างรอบคอบที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคตอีกต่อไป