การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ร่วมกับ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) แถลงการทลายเครือข่ายผลิตภัณฑ์ซึ่งแอบอ้างว่าสามารถช่วยประหยัดไฟฟ้าได้ โดยพบของกลางกว่า 100 ชิ้น มูลค่าความเสียหายทั้งหมดกว่า 50 ล้านบาท โดย กฟน. และอีก 2 การไฟฟ้ายืนยันเครื่องประหยัดไฟในบ้านอยู่อาศัยไม่มีจริง ณ ห้องประชุม บก.ปคบ. ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ
วันนี้ (23 สิงหาคม 2562) นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในฐานะโฆษก กฟน. ร่วมแถลงข่าวการเข้าทลายกลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวงขายอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า โดยมี พล.ต.ต.ศิร์ธัชเขต ครูวัฒนเศรษฐ์ ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท. ในฐานะโฆษก บก.ปอท. และนายพิฆเนศ ต๊ะปวง รองเลขาธิการ สคบ. เป็นผู้แถลงการดำเนินงานดังกล่าว โดยเข้าตรวจค้นสถานที่จำนวน 2 แห่ง ในย่านเคหะร่มเกล้า กรุงเทพมหานคร และจังหวัดชลบุรี โดยทั้งสองแห่งพบอุปกรณ์ประหยัดไฟ Power Factor และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องรวมกว่า 100 ชิ้น จากการตรวจสอบเพิ่มเติม พบว่า ช่องทางการจำหน่ายอุปกรณ์ประหยัดไฟดังกล่าว ผ่านทาง Facebook Fanpage มียอดขายเฉลี่ยวันละประมาณ 100 เครื่อง โดยดำเนินการมาแล้วประมาณ 2 ปี มีรายได้รวมกว่า 50 ล้านบาท
ผู้ช่วยผู้ว่าการ กฟน. ในฐานะโฆษก กฟน. เปิดเผยว่า กฟน. ขอขอบคุณ บก.ปคบ. บก.ปอท. ตลอดจนหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน ในการร่วมกันทลายแหล่งจำหน่ายอุปกรณ์ประหยัดไฟ ซึ่งไม่สามารถประหยัดไฟได้จริง รวมไปถึงยังแอบอ้างโดยการนำภาพข่าวของ กฟน. และสื่อมวลชนต่าง ๆ ไปตัดต่อสร้างความน่าเชื่อถือใช้โฆษณาชวนเชื่อหลอกลวงประชาชน ซึ่ง กฟน. พร้อมด้วย กฟผ. และ PEA ได้แจ้งความร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีกับกลุ่มมิจฉาชีพซึ่งนำภาพของเจ้าหน้าที่การไฟฟ้า และโลโก้ของการไฟฟ้าดังกล่าว มาแอบอ้างโฆษณาชวนเชื่อว่ามีอุปกรณ์ที่สามารถประหยัดค่าใช้ไฟฟ้าในบ้านไปแล้ว ที่ บก.ปอท. เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ที่ผ่านมา ซึ่ง กฟน. ได้ทำการผ่าพิสูจน์ในตัวเครื่องดังกล่าว พบเป็นเพียงตัวควบคุมหลอดแอลอีดี และคาปาซิเตอร์ ซึ่งเป็นตัวเก็บประจุ โดยมีอุปกรณ์หลักที่ทำหน้าที่เพียงแค่ 2 ชิ้นเท่านั้น ซึ่งแท้จริงแล้วอุปกรณ์ทั้งหมดนั้นไม่สามารถประหยัดไฟได้ตามที่แอบอ้างแม้แต่อย่างใด อีกทั้งยังส่งผลให้เสียค่าไฟเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งหากใช้งานไปนานๆอาจส่งผลให้เกิดไฟไหม้ภายในตัวบ้านได้อีกด้วย
ผู้ช่วยผู้ว่าการ กฟน. ในฐานะโฆษก กฟน. กล่าวเพิ่มเติมว่า กฟน. มีความห่วงใยประชาชนขอเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ เนื่องจากอุปกรณ์ดังกล่าวฯ ไม่สามารถประหยัดไฟฟ้าได้จริงและอาจส่งผลให้ระบบไฟฟ้าผิดปกติหรือกระทบต่อระบบจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งอาจมีความผิดตามกฎหมายได้ สำหรับอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าที่มีอยู่จริงนั้น จะนำมาใช้ในบางกรณีสำหรับภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น เป็นอุปกรณ์ที่มีราคาสูงซึ่งจะประหยัดไฟฟ้าได้ในลักษณะการเรียกเก็บค่าเพาเวอร์แฟคเตอร์ เช่น กิจการขนาดกลาง กิจการขนาดใหญ่ หรือกิจการเฉพาะอย่าง ดังนั้น ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยทั่วไปแทบจะไม่ได้รับประโยชน์จากการติดตั้งเครื่องประหยัดไฟฟ้าเหล่านี้ ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือต้องการขอคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถติดต่อผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ของ 3 การไฟฟ้า หรือติดต่อผ่าน MEA Call Center โทร. 1130 หรือ PEA Call Center 1129 หรือศูนย์บริการข้อมูล กฟผ. โทร. 1416 ที่พร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง หรือหากพบการกระทำความผิด หรือเป็นผู้เสียหาย สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ. โทร.1135