ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
การเมือง / การปกครอง ย้อนกลับ
ราไวย์!ราฟืนไม่ราไฟ??? ทุน-คนท้องถิ่นที่รอวันปะทุ!!!
18 มี.ค. 2559

          ด่วน!!! ราไวย์เผชิญหน้ารอบ3 :  ‪#‎นายทุนกำลังจะบุกราไวย์ อีกครั้ง ตอนนี้ (เวลา 21.10 น.) แกนนำชาวเลราไวย์แจ้งว่า นายทุนได้นำรถแบ็คโฮ และรถไถเข้ามาในพื้นที่เตรียมจะปิดเส้นทางให้ได้คืนนี้ ชาวเลทั้งหญิง ชาย เด็กออกมารวมตัวกันอย่างสงบ เพื่อปกป้องพื้นที่... หากเกิดเหตุปะทะกันกลางคืน น่าเป็นห่วงอย่างมาก

          #เรียนทุกท่าน ...จากเหตุการณ์ที่ราไวย์ เมื่อเวลา 22.02 ท่านปลัดกระทรวงมหาดไทย (นายกฤษฎา บุตรราช) แจ้งว่าท่านได้แจ้ง ผวจ.ภูเก็ตแล้ว "ไม่ให้ดำเนินการกลางคืน และให้เจรจรให้ชัดเจนก่อน ไม่ใช่ใช้วิธีการแบบนี้" ขณะนี้มีเจ้าหน้าที่มาดูแลความปลอดภัยแล้ว ‪#‎เราเครือข่ายชาวเลอันดามันขอขอบคุณท่านปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นอย่างยิ่ง ที่ช่วยบำบัดทุกข์ของชาวเลราไวย์.@ ขอบคุณทุกท่านที่ช่วยสื่อสาร @ อย่างไรก็ตามชาวราไวย์จะเฝ้าระวังทั้งคืน...หากมีความคืบหน้าใดๆจะแจ้งท่านทราบต่อไป..ด้วยความเคารพ ..(มอแกน มอแกลน อูรักราโวย)

          #‎เอกชนประกาศกร้าว พรุ่งนี้เอาที่คืน (23.00) #‎แจ้งสื่อมวลชน และเพื่อนชาวเล  บริษัทเอกชนยืนยันว่า วันพรุ่งนี้ (4 มี.ค.59) จะดำเนินการอีกครั้ง โดยนำรถแบ็คโฮ และรถไถ มาในพื้นที่แล้ว และจะให้ชาวเล ย้ายของออกจากพื้นที่บริษัททั้งหมด หากไม่มีคำสั่งศาลบริษัทจะดำเนินการจนแล้วเสร็จก็อาจจะไม่ยอมหยุดดำเนินการจนกว่าจะเอาพื้นที่คืนได้

‪#‎อาจเป็นความรุนแรงรอบใหม่อีกครั้ง

          นั่นคือข้อความที่ถูกส่งต่อทางโลกโซเชียลเกือบตลอดทั้งคืนของวันที่ 3 มีนาคม โดยแกนนำเครือข่ายชาวเลอันดามันได้ส่งถ้อยความถึงสื่อมวลชนเมื่อปรากฏรถแบ็คโฮได้ย่างกรายเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งกำลังเกิดกรณีพิพาทกันอยู่ โดยก่อนหน้านี้คือวันที่ 27 ม.ค. 2559 ที่บริเวณหาดราไวย์ ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ได้มีชายฉกรรจ์กว่า 100 คน พร้อมเครื่องจักรเข้าดำเนินการปิดทางสาธารณะเข้าออกพื้นที่ประกอบพิธีกรรมและที่จอดเรือ โดยใช้รถบรรทุกหินขนาดใหญ่พร้อมรถไถเพื่อปิดทางและทำลายเครื่องมือประมงของชาวเล

          การปิดทางดังกล่าว มีชาวเลทั้งหญิงชายและเด็กกว่า 100 คน ออกมาคัดค้าน จนเกิดเหตุการณ์ปะทะและทำร้ายร่างกาย มีผู้บาดเจ็บหลายราย และได้เรื่องจบลงชั่วคราว เมื่อนายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เรียกทั้ง 2 ฝ่ายเจรจากันตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี โดยชาวไทยใหม่ต้องการให้เอกชนเปิดทางให้ชาวเลราไวย์ใช้สัญจรในการลงทะเล เพื่อทำการประมงและประกอบพิธีกรรมบาลัย (พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ของชนเผ่า) แบบถาวร แต่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ เนื่องจากฝ่ายเอกชนเป็นเพียงตัวแทนเข้าประชุม ซึ่งไม่มีอำนาจตัดสินใจ ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงสั่งให้เอกชนหยุดการก่อสร้างทั้งหมดไว้ก่อน พร้อมทั้งเปิดเส้นทางให้ชาวบ้านสัญจรจนกว่าจะได้ข้อยุติ

          ทั้งนี้พื้นที่ที่เกิดกรณีพิพาทเป็นพื้นที่ชายหาดสาธารณะที่ชาวเลใช้จอดเรือ เอาปลาขึ้นจากเรือ วางเครื่องมือประมง และเป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของชาวเลมายาวนาน โดยในอดีตบริเวณดังกล่าวชาวเลใช้เป็นสุสาน ซึ่งชาวเลราไวย์เป็นชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมที่มีทั้งเผ่ามอแกน มอแกลน อูรักลาโว้ย อาศัยอยู่ในพื้นที่ จ.ภูเก็ตมามากกว่า 200 ปี และที่ผ่านมารัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาที่ดิน ที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล โดยมีพลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง เป็นประธาน อาศัยตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 2 มิ.ย. 2553 เพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลและอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ปัญหาซึ่งก็ยังไม่บรรลุผล

          สำหรับความขัดแย้งในพื้นที่นี้มีมานานเกือบ 10 ปี หลังจากที่ บริษัท บารอน เวิลด์ เทรด อ้างว่าได้รับเอกสารสิทธิในการพัฒนาที่ดินหน้าหาดราไวย์ ตั้งแต่ปี 2550 และมีความพยายามผลักดันชาวไทยใหม่ออกไปให้พ้นพื้นที่ โดยมีการต่อสู้กันมาตลอด เพราะชาวไทยใหม่ยืนยันความเป็นชาวเล ที่อยู่อาศัยที่นี่มานานตั้งแต่รุ่นปู่ย่ากว่าร้อยปี เส้นทางเข้าออกที่ถูกปิดครั้งนี้เป็นเส้นทางเดียวของชาวอูรักลาโว้ยที่จะไปออกทะเลหากิน เป็นเส้นทางไปสุสานบรรพบุรุษและประกอบพิธีลอยเรือ อีกทั้งเป็นเส้นทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จประพาส เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2502 จึงทำให้ชาวไทยใหม่ไม่ยอม

          ขณะที่บริษัทเอกชนอ้างว่าได้ผ่อนผันให้ชาวไทยใหม่ใช้พื้นที่มานานแล้ว ถึงเวลาต้องเข้าพัฒนาที่ดิน โดยพยายามเข้ามาใช้พื้นที่ และเกิดการปะทะกับชาวไทยใหม่ครั้งแรกเมื่อกลางเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 25 มกราคม ครั้งล่าสุดเมื่อ 27 มกราคม และเกือบจะเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อ 3 มีนาคมที่ผ่านมา

          ปัญหาความขัดแย้งในที่ดินทำกินของชาวเล ซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมที่อาศัยทำกินอยู่บริเวณทะเลอันดามันนานกว่า 300 ปีนั้นภาครัฐจะมองข้ามปัญหาไม่ได้อย่างเด็ดขาด เพราะปัจจุบันชาวเลมีอยู่จำนวน 43 ชุมชน ใน 5 จังหวัด คือ ภูเก็ต พังงา สตูล กระบี่ และระนอง ประมาณ 12,250 คน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ มอแกน มอแกลน และอูรักลาโว้ย ซึ่งทุกกลุ่มมีวิถีชีวิต วัฒนธรรมและภาษาเป็นของตนเอง

          นอกจากนี้จากการแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ทำกินพบว่าชาวเลจำนวน 31 แห่ง อาศัยอยู่บนที่ดินก่อนประกาศของรัฐ เช่น กรมเจ้าท่า ป่าสงวนอุทยานแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันกำลังเป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่แล้วเสร็จ รวมทั้งยังอาศัยอยู่บนที่ดินที่ถูกฟ้องขับไล่โดยเอกชน ถึง 7 แห่ง จำนวน 1,228 หลังคาเรือน

          โดยเฉพาะที่จังหวัดภูเก็ตนั้น นายสนิท แซ่ซั่ว แกนนำชาวเลบ้านราไวย์ภูเก็ต เปิดเผยว่า ชาวเล อาศัยอยู่บนที่ดินกว่า 30 ไร่ที่หาดราไวย์มานับร้อยปี แล้วก็มีนายทุนมาฟ้องขับไล่ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา ชาวเลจำนวน 161 ครอบครัวก็ยืนยันว่าอยู่กันมาก่อน แล้วนายทุนมีเอกสารสิทธิได้อย่างไร และนอกจากปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินแล้ว ชาวเลยังต้องประสบปัญหาพื้นที่ทางจิตวิญญาณ หรือพื้นที่สุสาน 23 พื้นที่ จำนวน 232.5 ไร่ ซึ่งชาวเลใช้ฝังศพ โดยการอ้างสิทธิของนายทุน อีกทั้งรัฐก็ไม่มีการออกเอกสารทางทะเบียนให้แก่พื้นที่ทางจิตวิญญาณของชาวเล

          10 กุมภาพันธ์  2559 ที่กระทรวงมหาดไทย นายสนิท แซ่ซั่ว แกนนำชาวเลหาดราไวย์ และตัวแทนชาวเลจาก จ.ภูเก็ต ก็ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยมี นายประทีป กีรติเรขา รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นตัวแทนมารับหนังสือร้องเรียนกรณีเกิดข้อพิพาทกับบริษัทเอกชน เรื่องทางเดินสาธารณะที่มีการปิดทางเข้า-ออก จนทำให้เกิดเหตุปะทะกับกลุ่มชายฉกรรจ์

          ทั้งนี้ชาวเลหาดราไวย์ขอให้เร่งช่วยเหลือและให้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ออกโดยมิชอบในพื้นที่ตั้งชุมชนชาวเลหาดราไวย์เนื้อที่ 19 ไร่ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รวบรวมหลักฐานและเสนอเรื่องนี้ไปแล้ว ให้เสร็จสิ้นภายใน 1 เดือน รวมทั้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ดำเนินคดีต่อกลุ่มผู้มีอิทธิพล และชายฉกรรจ์ที่ทำร้ายชาวเลตามนโยบายการปราบปรามผู้มีอิทธิพลของรัฐบาล รวมทั้งขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 5 จังหวัดอันดามัน คือ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และ จ.สตูล เร่งกันพื้นที่ทางจิตวิญญาณและพื้นที่ประกอบพิธีกรรม จำนวน 23 แห่ง และประกาศให้เป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ตามสภาพการใช้งานเดิม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง

          จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าชาวเลรุ่นบรรพบุรุษได้อพยพมาจากหลายแหล่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยทำกินกับทะเลและป่าบนบกสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน ซึ่งมีงานวิจัยหลายแหล่งสรุปได้ว่าชาวเลอยู่ในเกาะภูเก็ตมากว่า 300 ปีในทะเบียนบ้านของชาวเล เลขที่ 38 ต .ราไวย์ พบว่า นางเปลื้อง เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2445 ซึ่งหากมีอายุถึงปัจจุบัน จะมีอายุถึง 114 ปี

          ปี พ.ศ. 2502  ปรากฏหลักฐานวิดีทัศน์ที่ในหลวงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรชุมชนชาวเลหาดราไวย์ ซึ่งมีบ้านชาวเลอาศัยอยู่ประมาณ 40 ครัวเรือน และราวปี พ.ศ. 2530 สมัยนายกรัฐมนตรี พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ เริ่มสนับสนุนนโยบายการท่องเที่ยวทำให้ที่ดินหาดราไวย์แพงขึ้น จนมีคนเก็งกำไรที่ดินของชาวเลราไวย์

          ปี พ.ศ. 2536 ได้มีการเสนอโครงการให้ชาวเลราไวย์ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น (คลองท่าจีน) ชาวเลได้มีการคัดค้านถึงกรณีดังกล่าว และหัวหน้าชุมชนได้ระดมชาวบ้านไปประท้วงที่บ้านผู้ใหญ่บ้านสมัยนั้น จึงทำให้เหตุการณ์ครั้งนั้นสงบไป

          ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 หลังเหตุการณ์สึนามิ เกิดปัญหาการไล่รื้อชุมชน 19 แห่งใน จ.ภูเก็ต จึงเกิดการรวมตัวเป็นเครือข่ายสิทธิคนจนพัฒนาภูเก็ต และมีการยื่นหนังสือร้องเรียนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตและนายกรัฐมนตรี ให้แก้ปัญหาเรื่องที่ดินคนจนใน จ.ภูเก็ต ซึ่งรวมถึงปัญหาที่ดินชุมชนชาวเล 5 แห่งใน จ.ภูเก็ตด้วย

          ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2548 มีการขยายการก่อสร้างทางหลวงผ่านพื้นที่ชุมชน กระทบบ้านเรือนของชาวเล 10 หลังคาเรือนซึ่งจะต้องถูกรื้อย้าย ประธานอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินฯ (พล.อ สุรินทร์ พิกุลทอง) ได้ลงพื้นที่ และมีความเห็นว่า เป็นชุมชนเก่าแก่ดั้งเดิมไม่ควรรื้อย้าย จึงได้ทำหนังสือถึงกระทรวงคมนาคม ขอให้ระงับโครงการก่อสร้างดังกล่าว

          จุดเปลี่ยนสำคัญของการตรวจสอบเรื่องการเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่ของชาวเลเกิดขึ้นเมื่อปี2557 กรมสอบสวนคดีพิเศษใช้วิธีการขุดเอาซากกระดูกไปตรวจสอบอายุไข โดยพ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล ผู้บัญชาการสำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษ ระบุถึงการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอกระดูกบรรพบุรุษชาวเลที่ขุดพบบริเวณชุมชนชาวเลที่หาดราไวย์ ยืนยันว่า ดีเอ็นเอจากกระดูกที่พบเปรียบเทียบกับคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน ผลออกมาว่ามีดีเอ็นเอที่สัมพันธ์กับคนเฒ่าคนแก่กลุ่มหนึ่งในชุมชนซึ่งย่อมมีความสัมพันธ์กับลูกหลานชาวเลอีกเป็นจำนวนมาก

          นี่จึงเป็นเรื่องราวอันสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม และไม่ควรคิดว่ามันเป็นเพียงเรื่องคนกลุ่มหนึ่ง ชุมชนหนึ่ง ในพื้นที่หนึ่ง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เพียงสะท้อนถึงปัญหาซึ่งฝังรากลึกแล้วยังบ่งบอกอีกว่าอาจมีสิ่งไม่ชอบมาพากลในหรือการแก้ปัญหาที่เป็นจริงเป็นจังซึ่งแน่นอนว่าเรื่องนี้มีความละเอียดอ่อน กระนั้นก็ควรถึงเวลาที่ภาครัฐต้องหันมาเอาใจใส่กว่าที่เป็นอยู่ เพราะเหตุการณ์ในวันนี้อาจส่งผลกระทบที่รุนแรงได้ขึ้นอีกในวันหน้า

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...