กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนที่ลงเล่นน้ำทะเลระมัดระวังแมงกะพรุนที่มีพิษ โดยเฉพาะในช่วงมรสุมหรือหลังฝนตกใหม่ๆ และปลายฝนต้นหนาว แนะหากพบผู้ที่สงสัยถูกพิษแมงกะพรุน ห้ามขัดถูหรือขยี้ในบริเวณที่ถูกแมงกะพรุน เพราะจะทำให้มีการยิงพิษเพิ่มขึ้น
นายแพทย์อัษฏางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยประชาชนที่เที่ยวทะเลในช่วงมรสุมและฝนตก อาจเจอแมงกะพรุนที่ถูกคลื่นซัดเข้ามาชายหาดได้ โดยแมงกะพรุนที่พบทั่วไปในทะเลไทยมีหลายชนิด ทั้งมีพิษและไม่มีพิษ และพบแมงกะพรุนมากขึ้นในช่วงมีมรสุมของปี รวมถึงช่วงฝนตกหรือหลังฝนหยุดใหม่ๆ โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรคได้รับรายงานพบผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บจากแมงกะพรุนพิษ (Jellyfish-related injury) ที่เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 3 ราย มีอาการปวดแสบบริเวณลำตัว สงสัยว่าถูกพิษแมงกระพรุนกล่องสายเดียว แต่ไม่เห็นตัวแมงกระพรุน อยู่ระหว่างการตรวจสอบ
แมงกะพรุนที่เป็นอันตรายและมีพิษรุนแรงคือ แมงกะพรุนกล่อง ซึ่งมีลักษณะโปร่งใส รูปร่างทรงสี่เหลี่ยม มีหนวดยื่นออกมาในแต่ละมุม และหนวดอาจยาวเท่ากับความสูงของคน แมงกะพรุนกล่องแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ชนิดที่มีหนวดเพียงเส้นเดียวในแต่ละมุม และชนิดที่มีหนวดหลายเส้นในแต่ละมุม ซึ่งกลุ่มนี้มีหนวดรวมๆแล้ว ประมาณ 12-15 เส้น และผู้เสียชีวิตเกิดจากชนิดที่มีหนวดหลายเส้น ซึ่งกระเปาะพิษจะอยู่ที่สายหนวด หนึ่งตัวอาจมีกระเปาะพิษถึงล้านถุง ทำให้แมงกะพรุนกล่องจัดเป็นสัตว์ทะเลที่มีพิษร้ายแรงที่สุด ซึ่งพิษของแมงกะพรุนกล่องมีพิษ 3 แบบ คือ 1.ทำให้เซลล์ผิวหนังตาย 2.มีอาการปวดรุนแรง และ 3.หากได้รับพิษในปริมาณมาก และพิษเข้าสู่กระแสเลือดและจะเข้าสู่หัวใจ ทำให้หัวใจหยุดเต้นและระบบหายใจล้มเหลว อาจเสียชีวิตได้ภายใน 2-10 นาที
สำหรับการป้องกันแมงกะพรุนพิษ ขอให้ประชาชนระมัดระวังการลงเล่นน้ำทะเล ในช่วงมีมรสุมหรือปลายฝนต้นหนาว ในวันคลื่นลมสงบ อากาศแจ่มใส หรือหลังฝนตกใหม่ๆ โดยเฉพาะแถวชายหาดระดับน้ำตื้นๆ แนะนำให้สวมเสื้อผ้าที่เป็น Lycra suit หรือเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาวซึ่งควรเป็นผ้าที่มีเนื้อแน่นและแนบลำตัว หากสงสัยว่าถูกพิษแมงกะพรุนให้ปฐมพยาบาลตามขั้นตอนเพื่อให้ผู้ป่วยพ้นวิกฤตก่อน ดังนี้
1.นำผู้บาดเจ็บขึ้นจากน้ำ 2.เรียกให้คนช่วยหรือเรียกรถพยาบาล (โทร 1669) แต่ห้ามทิ้งให้ผู้บาดเจ็บอยู่ตามลำพัง เพราะอาจหมดสติภายในเวลาไม่กี่นาที 3.ให้ผู้บาดเจ็บอยู่นิ่งๆ เพื่อลดการยิงพิษจากแมงกะพรุน 4.ราดน้ำส้มสายชูที่ใช้กันตามครัวเรือน ตรงบริเวณที่สัมผัสแมงกะพรุนพิษทันที โดยราดอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยนาน 30 วินาที และห้ามขัดถูหรือขยี้ รวมถึงห้ามราดน้ำจืด น้ำปัสสาวะ และแอลกอฮอล์บริเวณที่ถูกแมงกะพรุน เพราะจะทำให้มีการยิงพิษเพิ่มขึ้น และ 5.ถ้าผู้ป่วยหมดสติและไม่มีชีพจร ให้ปั๊มหัวใจก่อน หากมีข้อสงสัยประชาชนสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422