สทนช. เดินหน้าจัดทำแผนยุทธศาสตร์ ICT บูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลของทุกหน่วยงานด้านน้ำทั้งประเทศอย่างเป็นระบบ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย ตอบสนองการขับเคลื่อนแผนงาน/โครงการตามแผนแม่บทฯมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวว่า สทนช. ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ดำเนินการศึกษาและวางแผนเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์ ICT ของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มาใช้ในการปฏิบัติงาน เนื่องจาก สทนช. เป็นหน่วยงานหลักด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ทำหน้าที่ประสาน รวบรวม และติดตามข้อมูลจากทุกหน่วยงานด้านน้ำ เพื่อวิเคราะห์ ชี้เป้า และติดตามสถานการณ์น้ำ ทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤติ การติดตามแผนงานโครงการ ข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์ด้านทรัพยากรน้ำ งานวิจัยต่างๆ และความร่วมมือระหว่างประเทศ ดังนั้น การนำเทคโนโลยีด้าน ICT ที่ทันสมัย เช่น Big Data ,ปัญญาประดิษฐ์ (AI) , IoT , Blockchain รวมทั้งการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยีดิจิทัลที่สามารถรองรับปริมาณข้อมูลด้านน้ำที่มีอย่างมหาศาล เช่น ระบบคลาวด์ (Cloud) ระบบโครงข่าย (Network) ระบบการจัดเก็บข้อมูล (Storage) ซึ่งการนำเทคโนโลยีและระบบต่างๆ เหล่านี้มาใช้ จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยรวบรวมและเชื่อมโยงฐานข้อมูลด้านน้ำของทุกหน่วยงาน ทั้งประเทศได้อย่างเป็นระบบและเป็นหนึ่งเดียวกัน สร้างเอกภาพในการทำงานโดยบูรณาการความร่วมมือในการปฏิบัติหน้าที่จากทุกหน่วยงาน ทำให้ สทนช. สามารถวิเคราะห์ คาดการณ์ และแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และมีประสิทธิภาพสูงสุด ประชาชนสามารถรับมือกับภัยพิบัติด้านน้ำได้อย่างทันท่วงที ช่วยลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินได้
สำหรับการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ ICT ครั้งนี้ ถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะขับเคลื่อนภารกิจของ สทนช. ให้ประสบความสำเร็จ โดยมีวัตถุประสงค์ คือ 1.ดำเนินการจัดเก็บข้อมูล เพื่อเป็นคลังข้อมูลทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ใช้ในการรองรับภารกิจของ สทนช. และภารกิจด้านน้ำต่างๆ 2.ดำเนินการส่งเสริมการบริหารจัดการข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำของประเทศ เพื่อให้มีมาตรฐานข้อมูล สำหรับใช้แลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน 3.จัดทำระบบฐานข้อมูล/Application/Solution ที่สำคัญ เพื่อรองรับยุทธศาสตร์และแผนแม่บทน้ำ 20 ปี และอื่นๆ 4.การวิเคราะห์ข้อมูลและนำเสนอข้อมูลทรัพยากรน้ำ เพื่อการติดตามทรัพยากรน้ำทั้งประเทศ 5.การวิเคราะห์ข้อมูลทรัพยากรน้ำเพื่อการบริหารจัดการน้ำอัจฉริยะ 6.การจัดทำระบบเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอัจฉริยะ และการสร้างนวัตกรรมต่างๆและ 7.ระบบติดตามประเมินผลการดำเนินงาน (Monitoring & Evaluation)
“สทนช. คาดหวังว่าผลการศึกษาของโครงการนี้ จะได้มาซึ่งแผนการบริหารจัดการระบบสารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิทัลด้านทรัพยากรน้ำของประเทศไทย หรือ Data Management Blueprintและแผนยุทธศาสตร์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ICTของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งเป็นการจัดวางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศรวมถึงเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย สามารถนำไปสู่การขับเคลื่อนแผนงานและโครงการตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ที่อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลสูงสุด” รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าว