พพ. เปิดเวทีระดมความเห็นต่อร่างแผน AEDP2018 ครั้งที่ 5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดึงทุกภาคส่วนร่วมกำหนดทิศทางแผนพัฒนาพลังงานทดแทนในทุกมิติ ให้สอดรับแผน PDP2018 เพิ่มสัดส่วน การใช้พลังงานทดแทนเป็นร้อยละ 30 ในปี 2580 หลังจากนี้เตรียมรวบรวมความเห็นจากทุกเวทีสรุปเพื่อนำมาปรับปรุงร่างแผน AEDP2018 และเสนอกระทรวงพลังงานพิจารณาต่อไป
นายยงยุทธ จันทรโรทัย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า พพ. จะทำการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น (Public Hearing) ต่อร่างแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2561-2580 (AEDP2018) เป็นครั้งที่ 5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลหลังจากก่อนหน้านี้ได้ดำเนินการเปิดเวทีรับฟังความเห็นไปแล้วจำนวน 4 ครั้ง ในภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ ภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ ภาคใต้ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดขอนแก่น และภาคตะวันออกที่จังหวัดชลบุรี โดยหลังจากเปิดเวทีครั้งนี้ ซึ่งเป็นรอบสุดท้ายจะนำความคิดเห็น
และข้อเสนอแนะต่างๆ จากทุกพื้นที่มาสรุปและจัดทำเป็นแผนที่สมบูรณ์เพื่อนำเสนอกระทรวงพลังงานเห็นชอบต่อไป
“การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนได้มีตัวแทนของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน มาร่วมกันในการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ซึ่งเป็นแนวทางที่กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการเพื่อเปิดกว้างในการร่วมกันทำแผน AEDP2018 เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของกระทรวงพลังงานและแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 (PDP2018) ที่มุ่งกำหนดแผนการใช้พลังงานทดแทนในสัดส่วนร้อยละ 30 ของการใช้พลังงานทั้งหมดในปี 2580”
สำหรับโครงการส่งเสริมผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่สำคัญภายใต้ร่างแผน AEDP2018 นี้ได้แก่ โครงการผลิตไฟจากแสงอาทิตย์หรือโซล่าร์ (On grid) 10,000 เมกะวัตต์, โครงการโซล่าร์แบบทุ่นลอยร่วมกับพลังน้ำของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 2,725 เมกะวัตต์, โครงการเปิดรับซื้อไฟฟ้า ชีวมวล, ลม, ก๊าซชีวภาพ รวม 5,407 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 120 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้าจากขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม 44 เมกะวัตต์ เป็นต้น
“ในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างของศักยภาพของพลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆ สำหรับในพื้นที่กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่มีทั้งอาคารธุรกิจและบ้านที่อยู่อาศัยอย่างหนาแน่น มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง ศักยภาพการพัฒนาพลังงานทดแทนจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับในพื้นที่นอกเขตเมืองจะมีศักยภาพการผลิตพลังงานที่หลากหลายทั้งจากเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร น้ำเสียและของเสียในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรม ซึ่งพลังงานทดแทนนอกเหนือจากจะเป็นพลังงานสะอาด ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีส่วนสำคัญต่อการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในพื้นที่ด้วย” นายยงยุทธกล่าว