รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และคณะ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีแรงงานและการจ้างงาน G20 (LEMM) ณ เมืองมัตสึยามา ประเทศญี่ปุ่น เผย ประเทศไทยส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ พัฒนาขีดความสามารถผู้สูงอายุด้านเทคโนโลยีรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0
เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2562 หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน นายสุรเดช วลีอิทธิกุล รองปลัดกระทรวงแรงงาน และนางพัฒนา พันธุฟัก ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีแรงงานและการจ้างงาน G20 (LEMM) ระหว่างวันที่ 1 - 2 กันยายน 2562 ณ เมืองมัตสึยามา ประเทศญี่ปุ่น โดยประเทศไทยได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมในฐานะประธานอาเซียน ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมในเรื่องการจ้างงานผู้สูงอายุ และระยะเวลาการทำงานที่ยาวนานขึ้น (longer working life) อันเป็นผลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวต่อที่ประชุมว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีอัตราการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ ในปี 2567 จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ กระทรวงแรงงานตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จึงดำเนินการเพื่อรองรับการจ้างงานผู้สูงอายุ ทั้งในเรื่องการลงนาม MOU ร่วมกับบริษัทเอกชนเพื่อส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ การส่งเสริมการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาขีดความสามารถผู้สูงอายุโดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีเพื่อรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 การขยายอายุผู้ประกันตนตามมาตรา 40 จาก 60 ปี เป็น 65 ปี เป็นต้น ทั้งนี้ประเทศไทยจะใช้โอกาสการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุดังกล่าวในการขยายตลาดแรงงานผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมพฤฒิพลังของผู้สูงอายุ นอกจากนั้นประเทศไทยในฐานะแขกรับเชิญพิเศษ ยังได้ร่วมรับรองปฏิญญาที่ประชุมรัฐมนตรีแรงงานและการจ้างงาน G20 ค.ศ. 2019 ภายใต้หัวข้อหลัก “การกำหนดทิศทางอนาคตของงาน โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง”
สำหรับสาระสำคัญของร่างปฏิญญาฯ ประกอบด้วยหัวข้อหลัก 4 ด้าน ได้แก่ 1) นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ 2) นโยบายที่เกี่ยวกับระยะเวลาการทำงานที่ยาวนานขึ้น (longer working life) อันเป็นผลที่เกิดมาจากสังคมผู้สูงอายุ 3) การจ้างงานรูปแบบใหม่ อาทิ งานการดูแลระยะยาว (long-term care) และ 4) การส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ ซึ่งร่างปฏิญญาฯ เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิก G20 ต่อการกำหนดทิศทางด้านนโยบายเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและอนาคตของงาน โดยไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการรับรองร่างปฏิญญาฯ ด้วยแล้วเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 โดยประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากการหารือระหว่างการประชุมเพื่อเตรียมการกำหนดนโยบายรองรับงานรูปแบบใหม่ให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานรูปแบบใหม่ อาทิ การดูแลระยะยาว ซึ่งเป็นอาชีพขาดแคลน แต่มีความสำคัญในปัจจุบันเนื่องจากสภาพสังคมผู้สูงอายุ