นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ในช่วงที่มีฝนตกหนักอาจส่งผลให้พื้นที่ ที่เป็นหลุม เป็นบ่อ ภายในบ้านเกิดน้ำท่วมขัง กลายเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะบ้านที่มีพงหญ้า สูงรก มีสวนป่าอยู่ภายในบริเวณบ้าน ควรระมัดระวังอันตรายจากสัตว์มีพิษ เพราะหากไม่มีการจัดการสิ่งแวดล้อมทั้งในบ้านและนอกบ้านที่ถูกสุขลักษณะ อาจกลายเป็นแหล่งอาหารและเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์ มีพิษตามมา โดยเฉพาะสัตว์ประเภท งู ตะขาบ ที่มักอาศัยอยู่ในบริเวณที่ชื้นแฉะ และรกทึบ จึงต้องทำความสะอาดบริเวณรอบบ้านให้โล่งเตียน ปิดช่องทางเข้าออกของงูและหนู ตรวจสอบระบบท่อไม่ให้มีรูรั่วหรือ รอยแตก หากใช้สารเคมีกำจัดหนูต้องปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด และหากพบงูในบ้าน เพื่อความปลอดภัยให้โทรติดต่อผู้เชี่ยวชาญในการจับงูที่สายด่วน 199 หรือหน่วยกู้ภัยของจังหวัด
“นอกจากนี้ ให้ระวังแมลงมีพิษต่าง ๆ ด้วย เช่น แมลงก้นกระดกที่มีลำตัวเป็นปล้อง ๆ มีสีดำสลับ สีแดงหรือสีแดงอมส้ม ห้ามตีหรือขยี้ด้วยมือเปล่า ให้ใช้ผ้าหรือกระดาษเขี่ยแมลงออกไป หากสัมผัสโดน ตัวแมลง พิษของมันจะทำให้ปวดแสบปวดร้อน มีอาการคัน ผิวไหม้ ผื่นแดง และเป็นตุ่มน้ำ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น คือ จุ่มหรือแช่บริเวณที่โดนแมลงในน้ำเย็น 5-10 นาที สลับกับการเป่าให้แห้ง หากมีอาการอักเสบรุนแรงให้รีบพบแพทย์ทันที ส่วนสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็กอีกชนิดที่ควรระวัง คือ กิ้งกือ บางชนิดสามารถปล่อยสารพิษจากลำตัว หากสัมผัสจะทำให้ผิวหนังไหม้ ปวดแสบปวดร้อน วิธีปฐมพยาบาลคือ ให้ล้างผิวด้วยน้ำมาก ๆ และทายาฆ่าเชื้อโรค ซึ่งการป้องกันไม่ให้กิ้งกือเข้าบ้าน ควรกำจัดกองใบไม้ เล็มหญ้าให้สั้น ให้แดดส่องถึงพื้น และอุดรอยร้าว ดังนั้น สมาชิกในครอบครัวทุกคนจึงต้องช่วยกันสอดส่องและจัดเก็บสิ่งของบริเวณภายในบ้านและนอกบ้านให้สะอาด เก็บกวาดเศษอาหารไม่ให้ตกค้างในบ้านและท่อน้ำทิ้ง พร้อมทั้งหมั่น สังเกตภายในบ้านไม่ให้สัตว์มีพิษเข้ามาได้ เพื่อความปลอดภัยของทุกคน”