นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการพัฒนาอ่างเก็บน้ำระบบแก้มลิงแก่งน้ำต้อน อ.เมือง จ.ขอนแก่น พร้อมรับฟังบรรยายสรุปแนวทางการพัฒนาโครงการฯ ณ วัดสายราษฎร์บำรุง บ้านป่าเหลื่อม ต.ดอนช้าง อ.เมือง จ.ขอนแก่น ว่า โครงการพัฒนาแก่งน้ำต้อนเป็นโครงการแก้มลิงขนาดใหญ่ และเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาแก้มลิงสองฝั่งลำน้ำชี จากทั้งหมด 34 โครงการ ที่กรมชลประทานได้ดำเนินการตามแนวพระราชดำริ ตั้งแต่ปี 2539 มีพื้นที่หนองประมาณ 6,196 ไร่ ความจุประมาณ7.431 ล้าน ลบ.ม. สภาพปัจจุบันตื้นเขิน ในช่วงฤดูน้ำหลากเกิดน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณรอบหนอง ไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้ จึงทำให้ชาวบ้าน 7 ตำบล 3 อำเภอ 33,877 คน พื้นที่การเกษตรโดยรอบกว่า 40,000 ไร่ ขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และการเกษตรกรมชลประทานจึงเริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2543
วัตถุประสงค์ เพื่อให้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำช่วยเหลือสนับสนุนการเพาะปลูกในเขตพื้นที่การเกษตร สำหรับอุปโภค-บริโภค ช่วยกักเก็บน้ำจากลำน้ำชีเมื่อประสบปัญหาฤดูน้ำหลาก และเพื่อยกระดับความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น โดยมีแผนงานก่อสร้างโครงการพัฒนาแก้มลิงแก่งน้ำต้อน (ระยะที่ 1) 4 ปี 2563-2566 รวมงบประมาณ 950 ล้านบาท หากดำเนินโครงการแล้วเสร็จ จะสามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัยในช่วงฤดูฝนหรือฤดูน้ำหลากและการขาดแคลนน้ำสำหรับการเกษตรในช่วงฤดูแล้งได้ 40,000 ไร่ รวมทั้งคาดว่าสามารถเพิ่มปริมาณการเก็บกักจากปัจจุบันมีปริมาณเพียง 20 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้นเป็น 100 ล้าน ลบ.ม.ได้
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีภารกิจดูแลเกษตรกร จึงได้เน้นให้เตรียมมาตรการระยะยาวเพื่อช่วยเหลือประชาชน อาทิ การเก็บกักน้ำเพิ่มกรณีฝนตก ซึ่งจะสามารถนำไปใช้ในช่วงฝนทิ้งช่วงได้ รวมถึงการขุดลอกแหล่งน้ำ โดยต้องเตรียมหาพื้นที่เก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด ทั้งอ่างขนาดเล็ก แก้มลิง เป็นต้น รวมถึงพื้นที่หลังเขื่อนให้สร้างฝายเพิ่มน้ำ สร้างความชุ่มชื้นให้ป่าสมบูรณ์ภายใน 1-2 ปี จะต้องเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด ซึ่งขณะนี้กรมส่งเสริมการเกษตรเร่งสำรวจข้อมูลพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง เพื่อชดเชยและเยียวยาความเสียหาย พร้อมทั้งหามาตรการในการช่วยเหลือ อาทิ การปลูกพืชใช้น้ำน้อย
“จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาช่วงเวลานี้มีลมมรสุมพัดผ่าน ทำให้มีปริมาณฝนเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้พื้นที่ที่ประสบภัยแล้งเริ่มผ่านวิกฤติไปได้แล้ว ขณะนี้จึงต้องมาดูว่า ในแต่ละเขื่อนมีน้ำต้นทุนเท่าไร รวมถึงอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กมีน้ำเก็บกักเพียงพอไว้ใช้ในหน้าแล้งหรือไม่ หากมีการเตรียมการและบริหารจัดการน้ำที่ดี เชื่อมั่นว่า จะมีน้ำเพียงพออุปโภค-บริโภค และการเกษตร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.อุดรธานี โดยรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งสรุปโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง โดยมี ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยหลวงต.โคกสะอาด อ.เมือง จ.อุดรธานี เกิดจากการขยายตัวของเมืองและจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับแหล่งน้ำที่มีอยู่ไม่เพียงพอ จึงได้ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง สำหรับเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภคบริโภคในพื้นที่อำเภอเมืองอุดรธานี และส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรต่างๆ สามารถเก็บกักน้ำได้สูงสุด 135.57 ล้าน ลบ.ม. มีระบบคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวาและฝั่งซ้าย ฝั่งละ 1 สาย สำหรับใช้ส่งน้ำเพื่อการอุปโภคและการเกษตร อีกทั้งได้ให้กรมชลประทานเดินหน้าโครงการอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำให้มีมากขึ้นในพื้นที่ และบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่ให้เพียงพอต่อความต้องการของราษฎรในพื้นที่
ทั้งนี้ ภาพรวมสถานการณ์น้ำของจังหวัดอุดรธานี ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง มีปริมาณน้ำ 44 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 32 ของความจุอ่าง เป็นน้ำใช้การได้ 37.41 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 17 แห่ง มีปริมาณน้ำ 79 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 78 ของความจุอ่าง เป็นน้ำใช้การได้ 69 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กอีก 24 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 6 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่าง
สำหรับแผนการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนห้วยหลวง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับฤดูแล้งปี 2562/63 ช่วงระหว่างเดือน พ.ย. 62 ถึง เดือนเม.ย. 63 ประมาณ 28 ล้าน ลบ.ม. ได้จัดทำแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 62/63 โดยแบ่งเป็นน้ำเพื่อการอุบโภคบริโภคประมาณ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร และรักษาระบบนิเวศประมาณ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยได้มีแผนสำรองน้ำต้นฤดูฝนปี 2563 ช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนกรกฎาคม 63 ประมาณ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร
ดร.ทองเปลว กล่าวต่อว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 ให้ดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จังหวัดหนองคาย กำหนดแผนการดำเนินงานให้แล้วเสร็จภายใน 9 ปี (ตั้งแต่ปี 2561 – 2569) ในวงเงินทั้งสิน 21,000 ล้านบาท โดยโครงการประกอบไปด้วย สถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง มีอัตราการสูบน้ำรวม 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พนังกั้นน้ำความยาว 47.02 กิโลเมตร ประตูระบายน้ำตามลำน้ำสาขา จำนวน 12 แห่ง ประตูระบายน้ำในลำห้วยหลวง จำนวน 3 แห่ง ระบบกระจายน้ำในพื้นที่กว่า 315,195 ไร่ ระบบควบคุมอุทกภัยแบบอัจฉริยะ (Smart Flood Control System)
ทั้งนี้ หากดำเนินโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จจะสามารถบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ได้จากเดิม 90,000 ไร่ ลดลงเป็น 54,390 ไร่ ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งโดยการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนกว่า 245.87 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูฝน 315,195 ไร่ และในฤดูแล้ง 250,000 ไร่ และส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคให้ราษฎรกว่า 29,835 ครัวเรือน 284 หมู่บ้าน 37 ตำบล 7 อำเภอ 2 จังหวัด