นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากากระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 5/2562 ว่า ได้สั่งการให้เปิดประมูลงานก่อสร้างทั้ง 14 สัญญา มูลค่ารวม 179,000 ล้านบาท ระยะทาง 253 กิโลเมตร ภายในปลายปีนี้ เพื่อเร่งรัดให้งานก่อสร้างและงานระบบเปิดใช้ตามกำหนดปี 2566 เนื่องจากโครงการรถไฟความเร็วสูง สปป.ลาว-จีน ก่อสร้างใกล้เสร็จแล้ว โดยได้มีการเริ่มก่อสร้างไปแล้ว 2 สัญญา อยู่ระหว่างการเห็นชอบผลประมูล 5 สัญญา และอยู่ระหว่างเปิดประมูล 5 สัญญา ส่วนสัญญาที่ยังไม่ได้เข้าสู่การประมูล เนื่องจากยังติดปัญหาการสัญญางานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟความเร็วสูงที่เชียงรากน้อย วงเงิน 6,100 ล้านบาท ได้เร่งรัดให้ประมูลภายในเดือนนี้
ทั้งนี้ ได้ติดตามความคืบหน้าและเร่งแก้ปัญหาอุปสรรค ในการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงใน 7 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ 1.ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืน จำนวน 2,800 ไร่ กรอบค่าเวนคืน 10,369 ล้านบาท ซึ่งได้ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พิจารณาที่เวนคืนเผื่อสามารถนำไปใช้เพื่อเป็นประโยชน์กับประชาชนได้ เช่น สร้างเป็นที่อยู่ รูปแบบ การเคหะ เป็นต้น
2. เจรจารายละเอียดการขอใช้พื้นที่กองทัพบก ช่วงอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เป็นที่ตั้งสำนักงานและก่อสร้างทางรถไฟ ให้ได้ข้อสรุปใน 1 เดือน 3. พิจารณาผลการประกวดราคาทั้ง 14 สัญญาให้มีความสอดคล้องกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ให้ รฟท.ตรวจสอบคุณสมบัติ ผลงาน ให้เรียบร้อยก่อนประกาศผลเพราะอาจจะทำให้เกิดข้อท้วงติงภายหลัง ซึ่งทำให้เสียเวลา
4. เร่งประกาศประกวดราคาสัญญา 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย ภายในเดือนกันยายน 2562 ส่วนสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ซึ่งเป็นช่วงที่มีโครงสร้างบางส่วนทับซ้อนกันกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะให้ได้ประมูลในกันยายน 2562 เช่นกัน เนื่องจาก รฟท.กำหนดให้ กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ผู้ชนะการประมูลตอบกลับในเรื่องการส่งมอบพื้นที่วันที่ 9 ก.ย. นี้ หากไม่มีปัญหาจะสามารถลงนามได้ในเดือนก.ย.นี้
5. ตั้งคณะกรรมการเจรจากับฝ่ายจีนเพื่อให้ได้ข้อยุติของสัญญา 2.3 (สัญญาระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งขบวนรถและการฝึกอบรมบุคลากร) ก่อนเสนอสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างฉบับสุดท้าย และนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป ซึ่งทางอัยการมีข้อห่วงใย 12 เรื่อง ซึ่งจะต้องเจรจาเพื่อรักษาประโยชน์ของไทย ทั้งนี้ ให้คณะทำงานไปดูว่า ในสากล มีกรอบอย่างไรเพื่อให้เกิดความความยืดหยุ่นมากขึ้น
6. ขยายระยะเวลาในการดำเนินงาน สัญญา 2.3 (งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล)ซึ่ง รฟท.จะทำเรื่องเพื่อนำเสนอพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอขยายไปถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2562
7. ดำเนินการทบทวนและเสนอเรื่องการปรับกรอบวงเงินสัญญา 2.3 เสนอกระทรวงคมนาคมโดยเร็วเพื่อให้สามารถดำเนินการก่อสร้างและเปิดให้บริการในปี 2566 ตามแผนงาน
นอกจากนี้ ได้ตั้งอนุกรรมการ 4 คณะ เพื่อเร่งรัดโครงการให้เป็นไปตามแผนงาน และเปิดได้ตามแผนปี 2566 ได้แก่ คณะอนุกรรมการจัดตั้งองค์กรพิเศษเพื่อกำกับการดำเนินโครงการ รถไฟความเร็วสูง, คณะอนุกรรมการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางและ จัดทำแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง, คณะอนุกรรมการปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ เพื่อทำหน้าที่ เป็นระบบสนับสนุนผู้โดยสารให้กับระบบรถไฟความเร็วสูง, คณะอนุกรรมการพัฒนาพื้นที่และเมืองตามแนวเส้นทางโครงการ รถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย โดยมีตนเป็นประธาน
สำหรับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2562 อนุมัติงบกลาง วงเงิน 751 ล้านบาท ให้ รฟท.ดำเนินการจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดงานโยธา ขณะนี้รฟท.ได้คัดเลือกที่ปรึกษาแล้ว คาดว่าจะลงนามในสัญญาภายในกันยายน 2562 โดยใช้เวลา 19 เดือน
ตั้งเป้าใช้ยางพารา 2 แสนตัน พัฒนาถนนทั่วประเทศ
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากากระทรวงคมนาคม เปิดเผยความคืบหน้าการนำยางพารามาพัฒนาถนนทั่วประเทศเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรนั้น ขณะนี้มีเกาะกลางถนนที่สามารถนำยางพาราไปช่วยพัฒนาได้ราว 2,500กิโลเมตร(กม.) แบ่งเป็น ถนนทางหลวง 1,994 กม. และถนนทางหลวงชนบท 500 กม. โดยตั้งเป้าว่าในปี 2563 จะใช้น้ำยางสด 200,000 ตัน
“ยืนยันว่าจะไม่มีการทุบเกาะกลางถนนหรือแบริเออร์แบ่งฝั่งถนนที่มีอยู่เติม แต่จะเพิ่มยางพาราเข้าไปหุ้มแบริเออร์เหล่านั้น เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและทำให้แบริเออร์กั้นถนนดูใหม่ขึ้น ดังนั้น กระทรวงคมนาคมมี 2 แนวทาง สามารถรองรับแรงกระแทกความเร็ว 120 กม./ชม. ประกอบด้วย 1.ใช้ยางพารามาหุ้มแบริเออร์เดิมกลางถนน 2.ใช้ยางพาราหุ้มเส้นสลิงเกาะกลางถนน” นายศักดิ์สยาม กล่าว
อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขหลักของการนำยางพารามาพัฒนาถนนนั้น ต้องเป็นรูปแบบผลิตภัณฑ์ยางพาราที่ชาวบ้านผลิตได้เอง โดยหน่วยงานจะไปรับซื้อยางหน้าสวนเกษตรกรแบบไม่ผ่านโรงงานและพ่อค้าคนกลาง เพื่อกระตุ้นให้เม็ดเงินถึงมือผู้ผลิตต้นทางอย่างแท้จริง และจะมีหน่วยงานของกระทรวงคมนาคมเข้าไปสอนชาวบ้านเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตอีกด้วย
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมระบุว่าสรุปการใช้น้ำยางพาราในปี 2562 พบว่ามีการใช้น้ำยางพารามาพัฒนาถนนเพิ่มขึ้นกว่าปี 2561 ที่ราว 34,313 ตัน ส่วนด้านการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) จะใช้ยางพาราไปดำเนินการใน 3 ด้าน ได้แก่ 1.แผ่นยางรองรางรถไฟ 2.แผ่นยางครอบหมอนคอนกรีตอัดแรงสำหรับรองใต้แผ่นปูทางผ่าน 3.แผ่นปูทางผ่านที่มีส่วนผสมของยางธรรมชาติ
ทั้งนี้ จากการประเมินมองว่าการสร้างแบบสลิงแล้วมีตัวเลโก้ยางพารามาหุ้มสลิงนั้นก่อสร้างยากเนื่องจากจะต้องมีการเจาะถนนเพื่อวางหลักและมีต้นทุนที่สูงกว่าการทำแบริเออร์แล้วหุ้มด้วยยางพาราอีกชั้น(Temporary Barrier) รวมถึงมีความปลอดภัยมากกว่าแบบสลิง โดยมีการให้ ทล.และ ทช.กลับไปศึกษาข้อมูลและนำกลับมาเสนอใหม่อีกครั้ง ขณะที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะกลับไปศึกษาในส่วนของทางข้ามถนน