หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเปิดเผยว่าได้มอบนโยบายของกระทรวงแรงงาน ประจำปีงบประมาณ 2563 แก่ผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงานทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค จำนวน 850 คน โดย นโยบายเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการให้เห็นผลเป็นรูปธรรม 3 ข้อ ได้แก่ 1) การเร่งรัดปฏิรูปกำลังแรงงาน (WorkforceTransformation) 2) ส่งเสริมการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตามข้อตกลงกับประเทศต้นทาง เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคธุรกิจ 3) ยกระดับรายได้สำหรับแรงงานแรกเข้าทำงานให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้
ม.ร.ว.จัตุมงคลฯ กล่าวต่อว่า นโยบายสำคัญที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง 10 ข้อ ดังนี้ 1) การเตรียมความพร้อมรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยการส่งเสริมการจ้างงานและพัฒนาทักษะอาชีพที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ 2) ส่งเสริมการมีงานทำที่มีคุณค่า (Decent Work) ให้คนทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนทั่วไป หรือแรงงานกลุ่มพิเศษ 3) ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพแรงงานไทยให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้อง มีศักดิ์ศรี เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในต่างประเทศ 4) พัฒนาระบบประกันสังคมและสิทธิประโยชน์ รวมทั้งส่งเสริมการป้องกันสุขภาพ เพื่อสร้างหลักการประกันความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นให้แก่แรงงาน 5) ขับเคลื่อน Safety Thailand โดยใช้มาตรการทางกฎหมาย การสร้างเครือข่ายรวมทั้งสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยยั่งยืน 6) ขยายการบูรณาการเครือข่ายในการส่งเสริม คุ้มครอง และพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานอิสระ ให้มีอาชีพ มีรายได้ มีหลักประกันทางสังคมและมีความปลอดภัยในการทำงาน 7) เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและแก้ไขปัญหาการบังคับใช้แรงงาน ปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และปัญหาการใช้เด็กในรูปแบบที่เลวร้าย 8) พัฒนารูปแบบการกำกับ ดูแล ตลอดจนสร้างกลไกการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมระหว่างเอกชนและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน เพื่อยกระดับการให้บริการสาธารณะด้านแรงงานให้สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม 9) เพิ่มศักยภาพการทำงานของอาสาสมัครแรงงานและบัณฑิตแรงงานเพื่อเป็นกลไกสำคัญในระดับภูมิภาคในการขับเคลื่อนบริการสาธารณะด้านแรงงาน และ 10) ยกระดับการให้บริการประชาชนทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการได้หลากหลายช่องทาง
รมว.แรงงาน ยังกล่าวให้กำลังใจในการทำงานแก่ผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการในสังกัด โดยให้ผนึกกำลังร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จในการวางรากฐานที่มั่นคงด้านแรงงานนอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของรัฐบาล และขอให้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการอีกด้วย