“บิ๊กป๊อก” สั่งผู้ว่าฯทั่วประเทศ ให้ใช้คนในหน่วยงานในพื้นที่ ร่วมดำเนินการโครงการตำบลละ 5 ล้านบาท พร้อมให้ทำความเข้าใจเกษตรกรห้ามแย้งน้ำ ส่วน“กฤษฎา”ปลัดคนใหม่กำชับต่อ ให้ผู้ว่าฯคุมเข้มทุกขั้นตอน ตามแนวทางที่ได้กำหนดไว้แล้ว
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กรณีเงินโครงการตำบลละ 5 ล้านบาทได้ขยายเวลาออกไปให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ม.ค. 2559 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศสามารถใช้คนในหน่วยงานต่างๆให้ลงไปดำเนินการได้ โดยมีงบประมาณให้กับจังหวัดต่างๆ ผ่านสำนักงานปลัดจังหวัด รวมเป็นเงิน 187 ล้านบาท และขอให้ทุกหน่วยเร่งรัดดำเนินการให้ครบกระบวนความ
“ขอขอบคุณผู้ว่าฯที่สนองตามนโยบายของรัฐบาล ส่วนเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ที่คาดว่าในปี 2559 จะเกิดภัยแล้งอย่างรุนแรง จะเกิดปัญหาในเรื่องน้ำเพื่อการเกษตร โดยเฉพาะเรื่อง ข้าว และพืชผักต่างๆ และส่งผลกระทบมาถึงการน้ำเพื่อการบริดภคด้วยนั้น หากเราไม่เร่งดำเนินการแก้ปัญหาการจัดการน้ำให้เป็นระบบตั้งแต่ตอนนี้ จะเกิดปัญหาตามมาอย่างแน่นอน เพราะทางกรมชลประทานออกมายืนยันแล้วว่า น้ำ 3.5 พันล้านลูกบาศก์เมตร เพียงพอต่อการใช้บริโภค แต่ไม่พอสำหรับการใช้น้ำในการปลูกพืชอย่างแน่นอน ดังนั้นจึงต้องเร่งทำความเข้าใจกับเกษตรกรตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขอให้ทุกฝ่ายระมัดระวังในการใช้น้ำอย่างเหมาะสม”
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ได้กำชับให้ผู้ว่าฯทุกจังหวัดลงไปดูพื้นที่ของตนเอง เพื่อหาข้อมูลและวิธีแก้ปัญหาให้กับประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ว่าจะอยู่ผ่านหน้าแล้งในปี 2559 ไปให้ได้ ผู้ว่าฯจะต้องลงไปพูดจาและทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนที่ต้องเตรียมพร้อมรับปัญหาภัยแล้ง และการเก็บกักน้ำไว้ใช้ จะต้องไม่ให้เกิดปัญหาการแย่งชิงน้ำกันเหมือนที่ผ่านๆมาในภาคกลาง และตนจะลงไปดูการทำงานของผู้ว่าฯอย่างใกล้ชิดอีกด้วย
“ขอให้ผู้ว่าฯทั่วประเทศ วางกรอบการดำเนินการภายใน 2 สัปดาห์ และ เมื่อมีปัญหาการร้องเรียนจากความเดือดร้อนของประชาชน ผู้ว่าฯจังหวัดต้องประสานงานกับปลัด และรองปลัดกระทรวงมหาดไทยทันที หรือประสานมาที่ผมหรือที่กระทรวงมหาดไทยจะมีเจ้าหน้าที่รอรับเรื่อง และส่งให้ทราบทันที เพื่อดำเนินการแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว ไม่ให้เกิดความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าว
นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สำหรับเรื่องเงินตำบลละ 5 ล้านบาท ได้ขยายเวลาอออกไปเป็นวันที่ 15 ตุลาคม 2558 ออกไปอีกเป็นอีก 1 เดือน และต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ม.ค. 2559 จึงขอฝากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้เร่งรัดดำเนินการต่ออย่างเร่งด่วน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ปัญหาภัยแล้งที่รัฐบาลกังวลว่าจะเกิดขึ้นในปี 2559 และส่งผลกระทบกับเกษตรกร และประชาชนที่ต้องใช้น้ำบริโภค ตนได้ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และส่งเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางลงไปประสานงานกับเจ้าหน้าที่ในแต่ละจังหวัดที่ ส่อเค้าว่าจะขาดแคลนน้ำ เรียกว่า เราเตรียมการตั้งแต่วันนี้ รออะไรไม่ได้ เพราะสภาพแวดล้อมโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ฝนทิ้งช่วงบ้าง พายุบ้าง อากาศหนาวมาก่อนกำหนด อย่างนี้เป็นต้น จึงอยากให้ประชาชนทั้งประเทศหันมาปลูกต้นไม้กันให้มากขึ้น เพราะเป็นการเร่งฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้คืนกลับมาโดยเร็ว
นายกฤษฎา กล่าวว่า สำหรับภาคเอกชนในการจะเข้ามามีบทบาทในการกำหนดแผนที่จังหวัดนั้น ตนถือว่าเป็นแนวคิดที่ดี โดยผู้ว่าฯจะต้องเป็นฝ่ายเชิญภาคเอกชนเข้ามาประชุมหารือ โดยเฉพาะหอการค้าแต่ละจังหวัด อย่างน้อยก็ควรพบปะหารือกัน 2 เดือนครั้ง ตอนนี้มีรองผู้ว่าฯได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าฯให้ลงไปแก้ปัญหาในหลายๆจังหวัด และทุกคนต้องทำงาน กระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะประเมินติดตามผลงานจากผู้ว่าฯ หากจังหวัดไหนเกิดปัญหากับประชาชนต้องปรับย้ายเอาคนที่มีความรู้ ความสามารถลงไปทำงานแทน
ปลัดกระทรวงหมาดไทย กล่าวอีกว่า ได้ดำเนินโครงการสนับสนุนการจัดหาเครื่องจักรกลการเกษตรให้แก่กลุ่มสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2558 เพื่อช่วยเหลือกลุ่มสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรในการลดต้นทุนการผลิต โดยงบประมาณของโครงการดังกล่าวได้รวมอยู่ในกรอบวงเงินงบประมาณของมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบลๆ ละ 5 ล้านบาทด้วย
ขณะนี้ ได้รับแจ้งจากสำนักงบประมาณว่า ได้พิจารณาจัดสรรงบประมาณสำหรับดำเนินโครงการสนับสนุนการจัดหาเครื่องจักรกลการเกษตรฯแล้ว จำนวน 21 จังหวัด เป็นเงิน 254 ล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินการสนับสนุนจัดหาเครื่องจักรกลด้านการเกษตร อาทิเช่น รถเกี่ยวข้าว รถไถ เครื่องคัดแยกเมล็ดพันธ์ หรือเครื่องมืออื่นๆ ที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพให้แก่กลุ่มการเกษตรและกลุ่มสหกรณ์ที่จดทะเบียนตามกฎหมาย และมีการดำเนินงานและการบริหารงานที่ต่อเนื่อง เพื่อนำไปให้บริการแก่สมาชิกและเกษตรกรทั่วไป
“เพื่อให้การดำเนินโครงการฯเป็นไปตามหลักเกณฑ์และมีการบริหารจัดการที่ถูกต้องตามมาตรฐานของทางราชการ กระทรวงมหาดไทยจึงได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้ง 21 จังหวัดที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้ว ให้เร่งดำเนินการจัดหาเครื่องจักรกลการเกษตรให้แล้วเสร็จตามกำหนด และให้จังหวัดดำเนินการเรื่องการมอบหมายให้สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ร่วมกับฝ่ายทหารในพื้นที่ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการ การจัดเก็บ การดูแลรักษา ซ่อมบำรุง ให้ถูกต้อง ชัดเจน ครบถ้วน เพื่อให้การจัดหาเครื่องจักรกลการเกษตรให้แก่กลุ่มสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรเป็นไปอย่างทั่วถึง โปร่งใส และคุ้มค่า รวมทั้งดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบและหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการเป็นสำคัญ”
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ได้เร่งรัดในการจัดทำกระบวนการบริหารโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการตำบลละ 5 ล้านบาท ทั้งด้านการบริหารจัดการ การปฏิบัติงานด้านการเงินและพัสดุ และงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของจังหวัดให้มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน สามารถดำเนินการและใช้จ่ายงบประมาณทุกโครงการอย่างถูกต้องตามแนวทางที่กำหนด เพื่อนำความช่วยเหลือต่างๆ ลงไปสู่พี่น้องประชาชนได้อย่างรวดเร็ว โปร่งใส ตรวจสอบได้และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล