กลับมาให้เป็นหัวข้อถกเถียงกันอีกครั้งสำหรับโครงการจัดสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จังหวัดเลย ซึ่งพลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ค่อนข้างออกตัวแรงถึงแนวโน้มความเป็นไปได้ของโครงการที่จะเกิดขึ้น ในขณะคณะรัฐมนตรีหรือ ครม. วันก่อนก็ได้รับทราบผลการศึกษาโครงการที่องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เสนอเข้ามา โดยที่ประชุม ครม.มีมติให้อพท.หารายละเอียดเพิ่มเติม ทั้งด้านเทคนิคและความคุ้มค่าไม่ควรให้น้ำหนักไปที่เรื่องมูลค่าของตัวเงินที่จะได้รับจากนักท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวเพราะหากนักท่องเที่ยวมากขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อความสมบูรณ์ของธรรมชาติและเกิดความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม
สำหรับผลการศึกษาโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงนั้นแน่นอนว่าย่อมมีทั้ง ข้อดีและข้อเสีย ซึ่งในแต่ละหน่วยงานของรัฐก็ได้นำเสนอความเห็นอะไรประกอบการพิจารณาของครม.ด้วย โดยกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เห็นว่า กระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงจะช่วยอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวผู้สูงอายุ และคนพิการที่มีข้อจำกัดทางการเคลื่อนไหวมีโอกาสท่องเที่ยวบนภูกระดึงได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเรื่องของการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for All)
ส่วนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เห็นว่าโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดประเภทและขนาดโครงการ หรือกิจการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
เนื่องจากพื้นที่โครงการก่อสร้างบางส่วนตั้งอยู่ในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ชั้น 1เอ รวมทั้งจะต้องขอผ่อนผันการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1เอ ต่อคณะรัฐมนตรี โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการชำนาญการฯและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
ด้านสำนักงบประมาณอ้างถึงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 ที่เห็นว่า การก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง มีความคุ้มค่าในการลงทุนและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ก่อสร้างในระดับต่ำ ประมาณการค่าก่อสร้างภายในวงเงิน 633 ล้านบาท โดยความคุ้มค่าของโครงการอยู่ในรูปของผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมในชุมชน การสร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่และดยรอบ การสร้างโอกาสให้แก่แรงงานคืนถิ่น และเป็นการส่งเสริมการศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติ
ขณะที่นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Sasin Chalermlarp ตั้ง 3 ประเด็นคำถามถึงรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า การสร้างกระเช้าภูกระดึง มีโจทย์ที่ไม่มีใครคิดจะตอบ 3ข้อ 3ระดับ
ระดับที่ 1 ภูกระดึงเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเดินขึ้นเขาที่เป็น Trekking trail ที่ดีที่สุดของประเทศ เมื่อประเมินจากระยะทางที่ไม่ไกลมาก แทบไม่มีอันตราย คุ้มค่าเดินขึ้น เกิดมิตรภาพระหว่างทาง เรียนรู้ความอดทนเดินขึ้น
ดังนั้นเมื่อมีกระเช้า ความท้าทายให้ไปถึงเรื่องที่ว่ามาย่อมสู้ความสบายเย้ายวนของการขึ้นกระเช้าไม่ได้ คนที่ขึ้นกระเช้าไปก็ไม่ได้ซึมซับอะไร ขึ้นไปก็เหมือนขับรถขึ้นภูเรือ ดอยอินทนนท์ หรือภูเขาอื่นๆ ที่กลับมาก็ไม่มีความหมายอะไร
ระดับที่ 2 จากผลการศึกษาและการออกแบบระบบกระเช้า คาดว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย (เช่นตัดต้นไม้ไม่กี่ต้น) แต่ผลที่ตามมาหลังจากมีกระเช้ายังไม่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เช่น จะต้องสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมแน่ๆ อาคารกลางแหล่งธรรมชาติ ถนนข้างบน รวมถึงการจำกัดคนค้างแรม การจัดการขยะต่างๆ ภายใต้สถานภาพความเป็นอุทยานแห่งชาติ ที่มีข้อจำกัดเรื่องกฎหมาย กำลังคน งบประมาณในการดูแลให้คงสภาพธรรมชาติ
ระดับที่ 3 ถ้ามีคนขึ้นไปมากๆ จริงๆ แล้ว เราพร้อมจะเปลี่ยนพื้นที่อนุรักษ์ที่เป็นธรรมชาติ ไปรองรับการบริการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ กลายเป็น เมืองท่องเที่ยวข้างบนไปเลยในอนาคต ไปเลยไหม หากนโยบายวันข้างหน้าจะเอาอย่างนั้น เช่น ยกเลิกการเป็นอุทยานแห่งชาติ หรือประกาศเป็นโซนบริการหมดไปเลยไหม นี่คือเรื่องที่ต้องตัดสินใจตามกระเช้ามาในระดับท้ายสุด
" ถ้าอยากให้เป็นอย่างนี้ ลองเปิดออกแบบมาให้หมด แล้วนำมาให้ดู รับฟังความเห็นกันให้จะๆ เลย ใส่ลงในรายการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย "
" แต่ปัญหาคือ กระเช้าจะเข้า EIA ในฝ่ายของการสร้างทางผ่านพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นหนึ่ง ไม่น่าจะครอบคลุมกิจกรรมต่างๆหลังกระเช้า สผ. และกรมอุทยาน ต้องชัดนะครับว่าจะศึกษามาถึงขั้นนี้ไหม "
อย่างไรก็ตามตอนท้ายของข้อความ ประธานมูลนิธิสืบฯยังระบุอีกว่า ต้องการให้รัฐบาลตอบคำถามจากประเด็นข้างต้นว่าท้ายที่สุด โครงการสร้างกระเช้าภูกระดึงยังจำเป็นอยู่หรือไม่