ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
การเมือง / การปกครอง ย้อนกลับ
เลขาธิการ กสม. เข้าพบปลัดกระทรวงยุติธรรม เตรียมประสานความร่วมมือแก้ปัญหาการเข้าถึง “กองทุนยุติธรรม” ให้แก่ประชาชนผู้ยากไร้ในเชิงโครงสร้าง
30 ก.ย. 2562
              นายโสพล จริงจิตร เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังเข้าหารือกับศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กรณีแนวทางการแก้ไขอุปสรรคในการเข้าถึงกองทุนยุติธรรมของประชาชน ณ กระทรวงยุติธรรม ว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนและมีการตรวจสอบประเด็นปัญหาและอุปสรรคในการเข้าถึงกองทุนยุติธรรมของประชาชนผู้ยากไร้หลายกรณี จึงเห็นความสำคัญและจำเป็นในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกับทุกภาคส่วน โดยเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2562 สำนักงาน กสม. ร่วมกับศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดสัมมนาวิชาการ เรื่อง “การระดมความเห็นเพื่อหาข้อเสนอทางนโยบายและแก้ไขกฎหมายในการเข้าถึงกองทุนยุติธรรมของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” โดยมีผู้แทนภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ณ โรงแรมราชาวดี จังหวัดขอนแก่น การสัมมนาครั้งนั้นนำไปสู่ข้อค้นพบในเรื่องปัญหาและอุปสรรคเชิงวิชาการและแนวทางปฏิบัติที่กระทบต่อการเข้าถึงกองทุนยุติธรรมสำหรับประชาชนและชุมชนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง สำนักงาน กสม. จึงเห็นควรนำข้อค้นพบดังกล่าวหารือร่วมกับปลัดกระทรวงยุติธรรมเพื่อประสานความร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาให้ผู้ยากไร้ต่อไป
 
             นายโสพล กล่าวต่อไปว่า สำหรับผลการหารือในวันนี้ ปลัดกระทรวงยุติธรรมแจ้งว่า กระทรวงยุติธรรมรับทราบปัญหาและข้อร้องเรียนจากภาคประชาชนในการเข้าถึงกองทุนยุติธรรมเช่นกัน เช่น ความล่าช้าในการอนุมัติให้ความช่วยเหลือ ขอบเขตการตีความ “ความยากจน” หรือ องค์ประกอบของคณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือระดับจังหวัดที่มีผู้ร้องว่าขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม อันอาจส่งผลให้ประชาชนผู้ยากไร้หลายรายพบอุปสรรคในการได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม อย่างไรก็ดี กระทรวงยุติธรรมได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอุปสรรคไปแล้วหลายประการ อาทิ การกำหนดระยะเวลาการพิจารณาให้ความช่วยเหลือที่รวดเร็วขึ้น การกำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการมากกว่าเดือนละครั้ง ตลอดจนกรณีสำคัญที่เห็นว่าประชาชนควรต้องได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งบุคคลเหล่านั้นได้ยอมมอบตัว อันเป็นเครื่องบ่งชี้สำคัญประการหนึ่งว่าเขาจะไม่หนีและต่อสู้คดีในกระบวนการยุติธรรมต่อไป และยังอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางที่จะพัฒนาการให้ความช่วยเหลือของกองทุนยุติธรรมเป็นไปตามหลักการของการให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย (legal aid) ซึ่งทางสำนักงาน กสม. ได้เสนอว่า การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่บุคคลยากไร้มีความสามารถในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในกระบวนการยุติธรรมนั้น เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญ
 
            “การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน จำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานต่าง ๆ ต้องประสานพลังและร่วมมือกันทำงานเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม  สำหรับการช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้ให้มีสิทธิเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นธรรมผ่านกลไกกองทุนยุติธรรมนี้ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะประสานงานดำเนินการร่วมกับกระทรวงยุติธรรมเพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าถึงกองทุนฯ ต่อไป โดยในอนาคตอันใกล้ จะมีการจัดเวทีหารือและรับฟังความเห็นจากประชาชนร่วมกันเพื่อนำสู่การแก้ปัญหาในเชิงระบบ” เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าว
 
 
 
หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...