นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้มอบหมายให้ผู้แทนเข้ายื่นคำกล่าวหาต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้พิจารณาดำเนินการไต่สวนและดำเนินการอื่น ๆ ต่อนายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา (ในขณะนั้น) กรณีเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ประธาน กสม. ระบุพฤติการณ์แห่งการกระทำผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา มี กสม. ลาออก 2 คนทำให้เหลือผู้ปฏิบัติหน้าที่ กสม. เพียง 3 คน ซึ่งไม่ถึงกึ่งหนึ่งของกรรมการ จึงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เพื่อความผาสุกของประชาชนชาวไทยและผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติ รวมทั้งทำหน้าที่เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช พ.ศ. 2560 และ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ได้ ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2562 จนถึงวันที่ 12 กันยายน 2562 นายวัสได้มีหนังสือด่วนที่สุด รวม 7 ฉบับ เพื่อกราบเรียนประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้ร่วมกันแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับ กสม. เพื่อมาทำหน้าที่เป็น กสม. เป็นการชั่วคราว
“ต่อมาวันที่ 18 กันยายน 2562 รักษาราชการเลขาธิการประธานศาลฎีกา มีหนังสือถึงนายวัสว่า ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองกำลังร่วมกันปรึกษาหารือและพิจารณาดำเนินการอย่างรอบคอบ เพื่อให้ได้ตัวบุคคลที่มีความสามารถและความเหมาะสม รวมทั้งมีคุณสมบัติครบถ้วนและไม่มีลักษณะต้องห้ามมาทำหน้าที่ กสม. เป็นการชั่วคราว หากดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วเมื่อใดจะมีหนังสือกราบเรียนประธาน กสม. ให้ทราบภายหลัง” นายวัส กล่าว
ประธาน กสม. ระบุอีกว่า ตนมีหนังสือด่วนที่สุดถึงศาลฎีกาเป็นฉบับที่ 8 ลงวันที่ 23 กันยายน 2562 ว่า การไม่แต่งตั้ง กสม. ชั่วคราวเพื่อเข้ามาทำหน้าที่ (โดยแจ้งให้ศาลฎีกาทราบด้วยว่า ได้ส่งสำเนาถึงประธานศาลปกครองสูงสุดซึ่งพร้อมที่จะร่วมแต่งตั้งกรรมการชั่วคราวให้ทราบด้วยแล้ว) ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ ประชาชน สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทย กสม. และสำนักงาน กสม. ดังนี้
1. กสม. ต้องประชุมเพื่อพิจารณาร่างรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนกว่า 125 เรื่อง รับเรื่องร้องเรียนไว้เป็นคำร้องเพื่อตรวจสอบกว่า 13 เรื่อง และมอบหมายให้องค์กรที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหากว่า 56 เรื่อง การไม่สามารถเปิดประชุมได้ ทำให้ความทุกข์ร้อนของประชาชนไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยา หากเวลาเนิ่นนานไปยังไม่สามารถเปิดการประชุมได้ ก็จะยิ่งมีเรื่องคั่งค้างสะสมมากยิ่งขึ้น ทำให้ประชาชนผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนได้รับความเสียหายมากยิ่งขึ้น
2. วันที่ 1 ตุลาคม 2562 นี้ มีข้าราชการระดับสูงของสำนักงาน กสม. เกษียณอายุราชการ กสม. ในฐานะองค์กรกลางบริหารงานบุคคลมีหน้าที่ต้องดำเนินการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการแทนที่ผู้จะพ้นราชการ ซึ่งมีกระบวนการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหาที่ กสม. แต่งตั้ง แต่ กสม. ไม่สามารถเปิดประชุมเพื่อแต่งตั้งโยกย้ายได้ ทำให้ข้าราชการในสำนักงาน กสม. เสียหาย
3. ภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2562 นี้ กสม. ต้องประชุมเพื่อพิจารณาส่งรายงานความสอดคล้องกับหลักการปารีสและเอกสารอื่น ๆ รวม 5 รายการ โดยจัดทำเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือสเปน ทั้งในรูปแบบฉบับพิมพ์และอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อประกอบการประเมินสถานะของ กสม.ไทยขึ้นใหม่ (ขอคืนสถานะ A) ไปให้ฝ่ายเลขานุการของเครือข่ายสถาบันสิทธิมนุษยชนสากล (Global Alliance of National Human Rights Institutions: GANHRI) ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
4. ภายในวันที่ 18 ตุลาคม 2562 กสม. ต้องประชุมเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อร่างแนวปฏิบัติและร่างแถลงการณ์ รวมทั้งความเห็นชอบต่อร่างข้อบังคับการดำเนินงาน (Rule of Procedure : RoP) ของกรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia National Human Rights Institutions Forum : SEANF) ซึ่ง กสม. เป็นสมาชิกอยู่ ก่อนที่ประธาน กสม. จะเข้าร่วมประชุมประจำปีของ SEANF ครั้งที่ 16 ระหว่างวันที่ 22 ถึง 24 ตุลาคม 2562 ณ กรุงดิลี ประเทศติมอร์–เลสเต