ทั้งนี้ ผลการศึกษา “5จี ในอาเซียน” โดย “เอ.ที.เคียร์เน่” และ “ซิสโก้” เปิดเผยว่า การเปิดตัวบริการ 5จี จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับผู้ให้บริการโทรคมนาคมในประเทศไทยได้มากถึง 1.1 พันล้านดอลลาร์ หรือกว่า 34,000 ล้านบาทต่อปี ภายในปี 2568 สูงเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค เป็นรองเพียงประเทศอินโดนีเซีย ขณะที่ความท้าทายที่สำคัญ หนีไม่พ้นการจัดสรรรคลื่นความถี่ การกำหนดราคาค่าบริการ และการนำไปปรับใช้กับภาคธุรกิจ เบื้องต้นคาดว่าการใช้งานอย่างเป็นรูปธรรมในไทยจะเกิดในปี 2564 จากนั้นเติบโตอย่างรวดเร็วโดยในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวไม่น้อยกว่า 30%
นายดาร์เมช มัลฮอตรา กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคอาเซียน กลุ่มธุรกิจผู้ให้บริการโทรคมนาคม ซิสโก้ กล่าวว่า 5จี จะมาพร้อมคุณลักษณะเด่น 3 ข้อ ได้แก่ การรับส่งข้อมูลที่รวดเร็ว การหน่วงเวลาต่ำ และการเชื่อมต่อที่ใช้พลังงานต่ำ คาดว่าความเร็วการเชื่อมต่อจะเพิ่มขึ้น 50 เท่า ตอบสนองได้เร็วขึ้น 10 เท่า ขณะที่พลังงานในการเชื่อมต่อจะใช้น้อยกว่า 4จี อย่างมาก โดยคุณลักษณะเด่นดังกล่าว คือปัจจัยหลักที่จะช่วยให้ผู้ให้บริการสามารถจัดหาบริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่เร็วเป็นพิเศษ รองรับการสตรีมวีดิโอความละเอียดสูง การเล่นเกมผ่านคลาวด์ และการนำเสนอคอนเทนท์แบบอินเทอร์แอคทีฟที่ขับเคลื่อนด้วยเออาร์ วีอาร์
นอกจากนี้ ยังช่วยผลักดันการใช้งานในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น สมาร์ทซิตี้, อุตสาหกรรม 4.0, เครือข่ายอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (ไอโอที) ขนาดใหญ่ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้ผู้ให้บริการสามารถเพิ่มรายได้ทั้งจากกลุ่มผู้บริโภคและลูกค้าองค์กรธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาระบุด้วยว่า ไทยจะเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่เปิดตัวบริการ 5จี ในปี 2564 โดยการเติบโตในระยะแรกหลังจากที่ปรับใช้จะมาจากลูกค้าระดับสูงที่มีอุปกรณ์รองรับ และฐานลูกค้าจะค่อยๆ ขยายตัวเมื่ออุปกรณ์ที่รองรับมีราคาลดลง ขณะที่ภายในปี 2568 สัดส่วนการใช้งานจะอยู่ที่ประมาณ 25-40% ในประเทศหลักๆ ของภูมิภาค ในไทยสัดส่วนการใช้งานจะมีถึง 33% และคาดว่าจำนวนลูกค้า 5จี ทั้งหมดในภูมิภาคอาเซียนจะแตะ 200 ล้านรายในปี 2568
ดังนั้น นับเป็นช่วงเวลาที่ดีในการเปิดตัวการให้บริการ 5จี สำหรับผู้ให้บริการโทรคมนาคม ด้านองค์กรต่างๆ ก็กำลังมองหาหนทางในการใช้ประโยชน์จากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ ที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอ,ไอโอที, ระบบการพิมพ์ 3 มิติ, ระบบหุ่นยนต์ขั้นสูง และอุปกรณ์สวมใส่ เพื่อผลักดันการเติบโตของธุรกิจ อย่างไรก็ดี การปรับใช้เทคโนโลยีเหล่านี้จะสำเร็จได้จำเป็นต้องอาศัยการเชื่อมต่อที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ให้บริการในการขยายฐานธุรกิจในตลาดองค์กรพร้อมสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว ส่วนว่าต้องใช้งบประมาณการลงทุนติดตั้งโครงข่ายเท่าใดขึ้นอยู่กับการติดตั้งอุปกรณ์และลักษณะการใช้งานในแต่พื้นที่
ขณะที่ นายวัตสัน ถิรภัทรพงษ์ กรรมการผู้จัดการ ซิสโก้ ประจำประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน เสริมว่า ธุรกิจทั่วไทยโดยเฉพาะในภาคสำคัญๆ เช่นการผลิตกำลังมองหาเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยปฏิวัติการทำงาน การเปิดให้บริการ 5จี ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะช่วยเร่งการปรับใช้เทคโนโลยี และนำประโยชน์มหาศาลมาสู่องค์กร อีกทางหนึ่งผู้บริโภคกำลังรอคอยการเปิดตัวเพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานบนอุปกรณ์ส่วนตัว ซึ่งแนวโน้มทั้งสองนี้จะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตให้กับเศรษฐกิจไทย
ข้อมูลระบุว่า ผู้ให้บริการโทรคมนาคมในภูมิภาคอาเซียนกำลังเตรียมพร้อมที่จะเปิดตัวบริการ 5จี โดยมีแนวโน้มว่าจะใช้เงินลงทุนไม่น้อยกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 300,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 5จี ภายในปี 2568 ทั้งนี้ การเปิดให้บริการ 5จี จะต้องอาศัยการลงทุนจำนวนมากในด้านเทคโนโลยี เพื่อปรับปรุงเครือข่ายให้ทันสมัย สำหรับในภูมิภาคอาเซียน ผู้ให้บริการโทรคมนาคมมีแนวโน้มว่าจะลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่ออัพเกรดเครือข่าย 4จี และสร้างขีดความสามารถด้าน 5จีอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะช่วยให้ระบบ 4จี และ 5จี ทำงานควบคู่กันไปอย่างราบรื่น ขณะที่ผู้ให้บริการจะสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในส่วนทุนและการคืนทุน(อาร์โอไอ)ที่ยั่งยืน
ผลการศึกษาเน้นย้ำว่า เพื่อที่จะปลดล็อคศักยภาพดังกล่าว ภูมิภาคนี้จะต้องแก้ไขปัญหาท้าทายที่สำคัญบางประการ โดยปัญหาท้าทายที่สำคัญที่สุด ได้แก่ ย่านความถี่ที่เปิดให้ใช้งานช้าเกินไปซึ่งส่งผลให้เครือข่ายที่เปิดตัวใหม่ด้อยประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ระบบ 5จี จะได้รับการติดตั้งใช้งานบนหลายย่านความถี่ โดยมี 3 ย่านความถี่หลักที่จะใช้งานทั่วโลกในระยะสั้น ได้แก่ ย่านความถี่ต่ำ 700 เมกะเฮิรตซ์, ย่านความถี่กลาง 3.5 ถึง 4.2 กิกะเฮิรตซ์ และย่านความถี่สูง บนสเปกตรัม mmWave (24 ถึง 28 กิกะเฮิร์ตซ)
นอกจากนี้ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมจะต้องสร้างกลุ่มผลิตภัณฑ์ 5จี โดยกำหนดราคาอย่างรอบคอบ และโยกย้ายผู้บริโภคไปสู่เครือข่ายความเร็วสูง จากการสำรวจผู้บริโภคมีความตื่นเต้นเกี่ยวกับ 5จี และยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อคุณภาพที่ดีกว่า ต่างกับเทคโนโลยี 3จี และ 4จี ดังนั้น ผู้ให้บริการไม่ควรเข้าร่วมในสงครามตัดราคาเพียงเพื่อที่จะดึงดูดลูกค้าจำนวนมาก และหวังว่าจะสามารถคิดค่าบริการเพิ่มในภายหลัง
ส่วนขององค์กรขนาดใหญ่ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมจำเป็นที่จะต้องสร้างความสามารถใหม่ๆ และรวมบริการเชื่อมต่อเข้ากับโซลูชั่นและแอพพลิเคชั่นต่างๆ เพื่อช่วยให้ลูกค้าเข้าใจ ปรับใช้ และขยายการใช้งานที่ช่วยเพิ่มมูลค่า ขณะเดียวกันผู้ให้บริการจะต้องรับมือกับคู่แข่งรายใหม่ๆ ที่ให้บริการเครือข่ายส่วนตัวแก่องค์กร