“ศักดิ์สยาม”เร่งผลักดันขนส่งทางราง หวังช่วยลดต้นทุนการขนส่ง ทั้งเส้นทางรถไฟเชื่อมอีอีซี-ทะเลอันดามัน 9 เส้นทาง มูลค่าลงทุน 388,900 ล้านบาท
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ว่า นโยบายที่มุ่งเน้นในขณะนี้คือการเพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางรางให้เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 30 ของโลจิสติกส์ทั้งระบบ เพื่อลดต้นทุนในการขนส่งสินค้า นอกจากนี้ ยังมีแผนพัฒนาระบบรางเชื่อมท่าเรือสำคัญกับพื้นที่อีอีซี (EEC) รวมทั้งยังมีแผนพัฒนาระบบรางเชื่อมท่าเรือสำคัญกับพื้นที่ EEC อีกด้วย
โดยเริ่มจากโครงการรถไฟทางคู่ เฟส 2 รวม 9 เส้นทาง มูลค่า 388,900 ล้านบาท ที่จะพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นได้ภายใน 3 ปี ได้แก่ โครงการที่จ่อเปิดประมูลคือ รถไฟทางคู่ช่วง บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม วงเงิน 6.79 หมื่นล้านบาท และรถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ วงเงิน 8.5 หมื่นล้านบาท ส่วนรถไฟทางคู่เฟส 2 ที่เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น ได้แก่ รถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี มูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาท รถไฟทางคู่ ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ มูลค่า 8 พันล้านบาท รถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย มูลค่า 2.6 หมื่นล้านบาท รถไฟทางคู่ ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย 5.6 หมื่นล้านบาท รถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี มูลค่า 2.3 หมื่นล้านบาท รถไฟทางคู่ ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา มูลค่า 5.7 หมื่นล้านบาท และรถไฟทางคู่ระนอง-ชุมพร วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท
ขณะที่โครงการรถไฟเชื่อมพื้นที EEC นั้น มองเอาไว้ว่า เป็นเส้นทางช่วง EEC-ท่าเรือระนอง เนื่องจากจังหวัดระนองมีโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกอยู่แล้ว ประกอบกับการขนส่งสินค้าฝั่งทะเลอันดามันมีศักยภาพในการเชื่อมโยงการขนส่งทางน้ำกับกลุ่มประเทศ BIMSTEC อาทิ ประเทศเมียนมา ศรีลังกาและอินเดีย ดังนั้น จึงต้องเร่งผลักดันทางรถไฟให้เชื่อมต่อกัน ให้เหมือนกับพื้นที่ EEC ซึ่งมีการพัฒนาสนามบิน ท่าเรือและรถไฟความเร็วสูงไปพร้อมกัน
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า สำหรับเม็ดเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในภาพรวมของกระทรวงคมนาคมอยู่ที่ 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งโครงการขนาดใหญ่อย่างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา วงเงินลงทุน 2.3 แสนล้านบาท ได้แก่ ค่าก่อสร้าง 1.8 แสนล้านบาท และค่างานระบบจัดหารถและซ่อมบำรุงอีก 5 หมื่นล้านบาทนั้นจะต้องเจรจากับทางฝ่ายจีนเพื่อลงนามสัญญางานระบบ ซึ่งมองว่าโครงการนี้จะทำให้เป็นผลประโยชน์ของทั้ง 2 ประเทศ เพราะถ้าโครงการนี้เกิดมันจะต่อเชื่อมจากจีน ทะลุไปทั้งอาเซียนและเอเชีย โดยจะพยายามดำเนินการไม่ให้ช้ากว่ากำหนดที่จะเปิดเดินรถในปี 2566 เนื่องจากทางฝั่ง สปป.ลาวก่อสร้างไปได้มากแล้ว
ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินอีอีซี วงเงิน 2.2 แสนล้านนั้น ขณะนี้คืบหน้าไปมากแล้วไม่น่ามีปัญหาในการลงนามสัญญา อย่างไรก็ตาม ด้านโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วง ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ รวมงานระบบและเดินรถ วงเงิน 2.3 แสนล้านบาทนั้นเป็นโครงการใหญ่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ต้องผลักดัน ขณะนี้เรื่องอยู่ที่กระทรวงการคลัง ซึ่งติดปัญหาเรื่องการขออนุมัติกรอบวงเงินเพื่อชำระค่าก่อสร้าง ยืนยันว่าตนจะผลักดันให้รวดเร็วที่สุด
รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ระบุว่า สำหรับแผนเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟจาก EEC ไปยังทะเลอันดามันที่ จ.ระนองนั้น ขณะนี้ รฟท.อยู่ระหว่างก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ช่วงนครปฐม-ชุมพร ซึ่งจะเปิดบริการเต็มเฟสได้ในปี 2565 ส่งผลให้การขนส่งสินค้าจาก EEC ไปยังภาคใต้จะเป็นรถไฟทางคู่ทั้งหมด นอกจากนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างผลักดันโครงการถไฟทางคู่ช่วงชุมพร-ระนอง วงเงินลงทุน 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่รองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สั่งการให้ไปพัฒนาเพื่อเพื่อส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor) หรือ SEC ตลอดจนเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าระหว่างสองฝั่งมหาสมุทรด้วยระบบราง (Land-bridge) ระหว่างทะเลอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ดังนั้น หากสามารถพัฒนาเส้นทางรถไฟดังกล่าวได้จะทำให้การขนส่งสินค้า EEC-ท่าเรือระนอง เป็นรถไฟทางคู่ทั้งหมด ฃ
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของท่าเรือระนองนั้น การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) อยู่ระหว่างการปรับปรุงและพัฒนา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณการขนส่งสินค้า จากปัจจุบันรองรับได้ 7.8 หมื่นทีอียู/ปี โดยหากในระยะแรกพัฒนาท่าเรือแล้วเสร็จ ภายในปี 2563 จะสามารองรับได้ประมาณ 3 แสนทีอียู/ปี และเป็น 5 แสนทีอียู/ปี ภายในปี 2565 ซึ่งจะเท่ากับขีดความสามารถของท่าเรือจากประเทศอินเดีย เมียนมาและศรีลังกาได้ อีกทั้งยังลดระยะเวลาการขนส่งได้จำนวนมาก โดยเฉพาะในเส้นทาง ท่าเรือแหลมฉบัง-อินเดีย สามารถลดเวลาขนส่งได้มากกว่า 100% จาก 15 ชั่วโมงเหลือเพียง 7 ชั่วโมง