นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏข่าวในสื่อมวลชนหลายฉบับว่า นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ เดือดตนที่ล้ำเส้นตุลาการ และซัดตนว่า สับสนข้อกฎหมาย หลังเเจ้ง ป.ป.ช. เอาผิดประธานศาลฎีกา
“พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 (พรป. กสม. ปี 60) มาตรา 60 ประกอบ มาตรา 22 บัญญัติให้ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดร่วมกันแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทำหน้าที่เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นการชั่วคราว ดังนั้น ประธานศาลฎีกาจึงไม่มีอำนาจใช้ดุลพินิจที่จะดำเนินการหรือไม่ดำเนินการดังความเห็นของท่าน” นายวัส กล่าว
ประธาน กสม. กล่าวอีกว่า ในการทำหน้าที่แต่งตั้งบุคคลมาทำหน้าที่เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นการชั่วคราวนั้น เป็นหน้าที่และอำนาจที่กฎหมายบัญญัติให้ประธานศาลฎีกาปฏิบัติในฐานะเจ้าพนักงานเหมือนกับเจ้าพนักงานทั่วไป ประธานศาลฎีกาไม่ได้ใช้อำนาจตุลาการในการพิจารณาและพิพากษาคดีแต่อย่างใด เมื่อตนซึ่งเป็นผู้รักษาการตาม พรป. กสม. ปี 60 เห็นว่า ประธานศาลฎีกาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จึงย่อมต้องร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป จะถือว่าเป็นการล่วงเกินประธานศาลฎีกาในฐานะประมุขของผู้ใช้อำนาจตุลาการดังความเห็นของนายศรีอัมพรไม่ได้
“การลาออกจากการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 3 ครั้ง รวม 4 คน เป็นเหตุผลส่วนตัวของกรรมการแต่ละคน ส่วนการลดสถานะของ กสม. ไทยในเครือข่ายระหว่างประเทศของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จาก A เป็น B นั้น เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของ กสม. ชุดก่อนหน้านี้ ไม่ได้เกิดจากการดำเนินงานของ กสม. ชุดปัจจุบัน ซึ่งมีผลงานทั้งด้านส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ข้อเท็จจริงตามความเห็นของนายศรีอัมพรจึงยังคลาดเคลื่อนอยู่” นายวัส กล่าว
ประธาน กสม. กล่าวในที่สุดว่า ตนทำหน้าที่ประธาน กสม. เกี่ยวข้องกับการร่างและใช้กฎหมายฉบับนี้มาร่วม 4 ปี และสอนกฎหมายทั้งเอกชนและมหาชนมากว่า 20 ปี รวมทั้งเมื่อพิจารณาจากความเห็นทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงดังกล่าวมาเป็นลำดับแล้ว สาธารณชนย่อมสามารถสรุปได้ว่า ใครกันแน่ที่ไม่เข้าใจและสับสนในข้อกฎหมาย