‘ประภัตร’ ชู ‘สุพรรณบุรีโมเดล’ ดันตลาดเกษตรออนไลน์ นำร่องแห่งแรก เสริมศักยภาพเกษตรกรมืออาชีพ 4.0 เข้าถึงดิจิทัล
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดโครงการอบรมสินค้าเกษตรออนไลน์ ณ ห้องสัมมนา หมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี เมื่อไม่นานมานี้ โดยมี นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) นายภูสิต สมจิตต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี และหัวหน้าส่วนราชการต่าง ตลอดจนเกษตรกร และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จ.สุพรรณบุรี จำนวน 200 คนเข้าร่วม ว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดนโยบาย "การตลาดนำการผลิต" เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้แน่นอนและมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยบูรณาการร่วมกันทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จับคู่กับภาคการผลิตของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรเพื่อให้สามารถวางแผนการผลิตที่ตรงตามความต้องการของตลาด ลดปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด ซึ่งปัจจุบันตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางของเกษตรกรไทยในการจำหน่ายสินค้าที่สะดวก รวดเร็ว ทำให้เกษตรกรได้ขายให้กับผู้ซื้อโดยตรงโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ขณะที่ผู้บริโภคก็ได้รับความสะดวกสบาย สามารถเลือกซื้อสินค้าเกษตรและแปรรูปได้ทุกที่ทุกเวลา ทั้งยังพัฒนาขีดความสามารถด้านการค้าแก่เกษตรกร ให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้
นายประภัตร กล่าวต่อว่า โครงการ “ตลาดเกษตรออนไลน์”ในวันนี้ เป็นหนึ่งในโครงการนำร่องของ จ.สุพรรณบุรี ที่มุ่งเน้นให้เกษตรกรได้เรียนรู้การขายสินค้าเกษตรผ่านระบบออนไลน์ โดยให้เกษตรกรเป็นผู้จำหน่ายสินค้าด้วยตัวเอง เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในด้านการตลาดให้เข้มแข็งและมั่นคง สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยกิจกรรมในวันนี้เป็นการเปิดเวทีให้ความรู้กับเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน เพื่อพัฒนาให้มีความสามารถในการแข่งขันทางการตลาดสมัยใหม่ ยกระดับตลาดเกษตร 4.0 พัฒนาตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ในลักษณะเศรษฐกิจดิจิทัล เน้นการพัฒนาสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน เพื่อให้เกษตรกรได้พบกับผู้ขายโดยตรง โดยมีกลุ่มเกษตรกร และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจากในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี จำนวนกว่า 200 คน เข้าร่วม อาทิ ต.บ้านกร่าง ต.วังยาง ต.หนองสาหร่ายต.ศรีประจันต์ ต.ดอนปรู ต.ปลายนา ต.บางงาม ต.มดแดง ซึ่งนำสินค้าเกษตรหลากหลายชนิด เช่น เครื่องจักรสาน ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย ผ้าทอ ข้าวพันธุ์ กข.43 จากกลุ่มเกษตรกรรวมใจบ้านเขาคีรี อ.เดิมบางนางบวช เป็นต้น
“เกษตรกรไทยมีความสามารถในการปลูก และผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ แต่จุดอ่อนคือไม่มีตลาดรองรับ และยังไม่รู้วิธีการขาย จึงอาจถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง ซึ่งวันนี้เราได้เห็นช่องทางการขายที่หลากหลาย โดยเฉพาะการขายในระบบออนไลน์ โดยมีตัวอย่างหลายล้านคนที่ประสบความสำเร็จจากการค้านี้ แต่อย่างไรก็ตาม สินค้าเกษตรและอาหารที่ผลิตผ่านระบบ GAP แล้วนั้น สามารถติดสัญลักษณ์ Q โดย มกอช. ซึ่งแสดงถึงการผลิตที่ผ่านกระบวนการที่มีความปลอดภัยด้านอาหาร เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค โดยต้องเน้นย้ำในเรื่องดังกล่าวให้แก่เกษตรกรรับทราบ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าของตนเองได้” นายประภัตร กล่าว