นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) คุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ร่วมคัดแยกขยะที่เก็บได้จากแม่น้ำเจ้าพระยา ตลอดโครงการ “พายเรือเพื่อเจ้าพระยาเก็บขยะจากปากน้ำโพถึงสมุทรปราการ ปี 2” 10 วัน 10 จังหวัด ซึ่งเป็นความร่วมมือกัน ระหว่าง กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมด้วยจิตอาสาพระราชทาน 904 วปร.และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในระยะทาง 353 กิโลเมตร จากปากน้ำโพถึงสมุทรปราการ เก็บขยะได้ทั้งสิ้น 3,215 กิโลกรัม โดยเป็นปริมาณขยะที่คัดแยกได้ในแต่ละวัน จำนวน 2,053.7 กิโลกรัม รวมกับปริมาณขยะที่เก็บเพิ่มได้จากจุดคัดแยกถึงที่พักของทีมฝีพาย อีก 1,161.3 กิโลกรัม จังหวัดที่พบขยะมากที่สุด คือ จ.ปทุมธานี จำนวน 561.9 กิโลกรัม ขณะที่ จ.อุทัยธานี พบขยะน้อยที่สุด จำนวน 61.5 กิโลกรัม
ทั้งนี้ ในจำนวนขยะ 2,053.7 กิโลกรัม จำแนกได้เป็น ขยะทั่วไป จำนวน 1,439.9 กิโลกรัม พบมากที่สุด คือ ถุงพลาสติก 338.2 กิโลกรัม รองลงมา คือ ที่นอนฟองน้ำ 223.5 กิโลกรัม และโฟม 155.1 กิโลกรัม ตามลำดับ ขณะที่ขยะอินทรีย์ จำนวน 195.2 กิโลกรัม จะพบซากพืช ในทุกจังหวัด รองลงมา คือ ซากสัตว์ พบใน 8 จังหวัด และเศษอาหาร พบใน 6 จังหวัด ขยะอันตราย จำนวน 76 กิโลกรัม พบมากที่สุด คือ ยาฆ่าแมลง 35 กระป๋อง รองลงมา คือ ไฟแช็ค 29 อัน และ หลอดไฟ 20 หลอด และ ขยะรีไซเคิล จำนวน 342.6 กิโลกรัม พบมากที่สุด คือ ขวดเป๊บซี่แบบพลาสติกและกระป๋อง จำนวน 199 ขวด 4 กระป๋อง รองลงมา คือ ขวดคาราบาวแดง 180 ขวด ขวด M150 จำนวน 172 ขวด ขวดสปอนเซอร์ 126 ขวด และขวดโออิชิ 123 ขวด ทั้งนี้ ขวดพลาสติกที่เก็บได้ทั้งหมดได้นำถวายให้กับวัดจากแดง จ.สมุทรปราการ เพื่อนำไปจัดทำจีวรรีไซเคิล ต่อไป
"โครงการพายเรือเพื่อเจ้าพระยาเก็บขยะจากปากน้ำโพถึงสมุทรปราการ ปี 2” เป็นความร่วมมือกัน ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และ อีก 22 หน่วยงานภาครัฐ เอกชน วัด โรงเรียน ชุมชน ภาคประชาสังคม หน่วยงานในพื้นที่ 10 จังหวัดริมแม่น้ำเจ้าพระยา จิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. และกลุ่มนักพายเรือคายัค จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 - 10 ต.ค.2562 เริ่มต้นที่ปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์ ไปยัง จ.ชัยนาท อุทัยธานี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร สิ้นสุดที่วัดจากแดง บางกะเจ้า จ.สมุทรปราการ เพื่อรณรงค์ลดปริมาณขยะในแม่น้ำและสร้างความตระหนักให้คนไทยเลิกทิ้งขยะลงแม่น้ำอย่างยั่งยืน แก้ปัญหาขยะทะเลที่ต้นเหตุ ด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ตลอดจนเตรียมการสำหรับพระราชพิธีเสด็จพยุหยาตราทางชลมารค โดยแต่ละวันจะมีเรือคายัคหลัก คายัคเสริม ตลอดเส้นทางประมาณ 20 ลำ และอาสาสมัครพายเรือของชุมชนแต่ละจังหวัดๆ ละ 30 ลำ ซึ่งขยะที่เก็บได้ในแต่ละพื้นที่ จะนำขึ้นบกให้ประชาชนร่วมเรียนรู้วิธีการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี และเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลต่อไป"