คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เห็นชอบแผนใช้จ่ายเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินฯ 4,200 ล้านบาท เพื่อพัฒนาพื้นที่และยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ปี 2563
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) ครั้งที่ 3/2562 ณ ห้องประชุมไชยยงค์ ชูชาติ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรุงเทพฯ ว่า การประชุมในวันนี้มีวาระพิจารณาสำคัญ 2 เรื่อง คือ 1) ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนการใช้จ่ายเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นแผนงบประมาณแบบสมดุล วงเงิน 4,260 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 หมวดสำคัญ คือ 1) หมวดรายจ่ายหมุนเวียน วงเงิน 2,895 ล้านบาท ประกอบด้วยแผนงานสำคัญ เช่น การจัดซื้อที่ดินเอกชนเพื่อนำมาปฏิรูปที่ดิน วงเงิน 654 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อพัฒนาอาชีพและรายได้เกษตรกร/สหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน วงเงิน 600 ล้านบาท ซึ่งแผนงานนี้จะส่งผลให้เกษตรกรและผู้ยากไร้มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
และ 2) หมวดรายจ่ายขาด วงเงิน 2,040 ล้านบาท ซึ่งจะถูกใช้ไปในการสนับสนุนการดำเนินโครงการตามนโยบายรัฐบาลสำคัญ อาทิ โครงการพัฒนาแปลงที่ดินที่ได้จากการยึดคืนพื้นที่ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 36/2559 ที่นำมาดำเนินโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) วงเงิน 840 ล้านบาท เพื่อดำเนินกิจกรรม ดังนี้
1) งานสำรวจผังแม่บทการพัฒนา 2) งานปรับพื้นที่ 3) งานสำรวจวางผังแบ่งแปลง 4) งานระบบโครงข่ายถนนสายหลักและสายซอย และ 5) พัฒนาแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค และโครงการพัฒนาศักยภาพพื้นที่และการผลิต วงเงิน 500 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็นในการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรและการพัฒนาพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดิน และการสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพร่วมกันของเกษตรกร
“ที่ประชุมได้สั่งการให้ ส.ป.ก.เร่งดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ใน 3 ประเด็น คือ 1) เร่งสำรวจความเสียหายของระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ประปา ตลอดจนบ้านเรือนเกษตรกรและแปลงเกษตรกรรมในเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อจัดทำแผนงานการของบประมาณในการฟื้นฟู 2) เร่งสำรวจความต้องการและเตรียมจัดหาอาชีพระยะสั้นสำหรับการฟื้นฟูอาชีพหลังน้ำลดที่จะเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรดำเนินการและมีรายได้ทันทีหลังน้ำลด
และ 3) มอบหมายให้กองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเร่งดำเนินมาตรการในการช่วยเหลือและสนับสนุนเกษตรกรที่ประสบภัยทั้งมาตรการด้านหนี้สิน ได้แก่ การผ่อนผันการชำระหนี้ การลด/งดเว้นการจัดเก็บค่าเช่าที่ดินหรือดอกเบี้ยเงินกู้ รวมถึงการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อพัฒนาอาชีพ และมาตรการด้านการฟื้นฟูอาชีพและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น” รมช.ธรรมนัส กล่าว