"รมว.เฉลิมชัย" ชี้เกษตรกรได้รับประโยชน์จากโครงการประกันรายได้ชาวสวนยางพารานับตั้งแต่ 1 ต.ค. 2562 เดือนมีนาคม 2563 พร้อมเริ่มจ่ายเงิน 15 ธันวาคม เป็นต้นไป ให้ทั้งเกษตรกรที่ปลูกยางในที่ดินมีเอกสารสิทธิ์และไม่มีเอกสารสิทธิ์อย่างเท่าเทียม ตลอดจนได้ทั้งเจ้าของสวนและผู้รับจ้างกรีดยาง โดยใช้งบประมาณกว่า 24,000 ล้านบาท
โดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา ระยะที่ 1เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 จนถึงวันที่ 30 มีนาคม 2563 รวมเวลา 6 เดือน โดยการจ่ายเงินส่วนต่างจากราคายางพาราที่เกษตรกรขายได้นั้น 2 เดือนจ่าย 1 ครั้ง ซึ่งงวดแรกระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน 2562 จะจ่ายตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป ผ่านบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
ทั้งนี้ ประกันรายได้ของราคาขายยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/กิโลกรัม น้ำยางสด (DRC 100%) 57.00 บาท/กิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23.00 บาท/กิโลกรัม โดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) คำนวณผลผลิต 20 กิโลกรัม/ไร่/เดือน ให้รายละไม่เกิน 25 ไร่ รวมพื้นที่ทั้งหมด 17,201,390.77 ไร่ สำหรับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต้องขึ้นทะเบียนหรือแจ้งการปลูกกับ กยท. ก่อนวันที่ 12 สิงหาคม 2562 ประกอบด้วยเกษตรกรที่ถือบัตรสีเขียว ซึ่งพื้นที่มีเอกสารสิทธิ์และบัตรสีชมพู ซึ่งเป็นพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ แบ่งเป็นเจ้าของสวน 1,412,017 รายและคนกรีด 299,235 ราย งบประมาณรวม 24,278,626, 534 ล้านบาท
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ไปเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาโครงการประกันรายได้ชาวสวนยางพาราตามที่ กยท.เสนอ จากนั้นจะนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.โดยเร็วที่สุด เพื่อให้สามารถจ่ายเงินตามโครงการได้ตามเวลาที่กำหนด สำหรับงบประมาณนั้น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) จะสำรองจ่ายไปก่อน และให้ ธ.ก.ส.เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณในปี 2564 ประกอบด้วย งบสำหรับการประกันรายได้ตามโครงการ งบชดเชยต้นทุนเงินต้น ธ.ก.ส. ค่าใช้จ่ายในการโอนให้เกษตรกร และค่าบริหารโครงการเหมาจ่าย 1% ของวงเงินชดเชยรายได้
สำหรับราคายางพาราขณะนี้ ทาง กยท.รายงานว่า จะทรงตัวอยู่สักระยะเนื่องจาก เมื่อวันนี้ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา เป็นวันชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งกำหนดให้เป็นวันหยุดต่อเนื่องถึงวันที่ 7 ตุลาคม ส่งผลให้ราคายางในไทยทรงตัวตามไปด้วย โดยปัจจุบันราคายางแผ่นดิบคุณภาพดีอยู่ที่ 38.77 บาท/กิโลกรัม หากเปรียบเทียบกับราคาประกันรายได้ เกษตรกรจะได้รับเงินส่วนต่าง 21.23 บาท/กิโลกรัม น้ำยางสด (DRC 100%) 37.50 บาท/กิโลกรัม หากเปรียบเทียบกับราคาประกันรายได้ เกษตรกรจะได้รับเงินส่วนต่าง 20.50 บาท/กิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 16.70 บาท/กิโลกรัม หากเปรียบเทียบกับราคาประกันรายได้ เกษตรกรจะได้รับเงินส่วนต่าง 6.30 บาท/กิโลกรัม
“โครงการประกันรายได้เป็นมาตรการระยะสั้นที่ต้องเร่งทำ เนื่องจากชาวสวนยางเดือดร้อนจากราคายางที่ตกต่ำมากว่า 5 ปี ซึ่งจะทำควบคู่กับมาตรการอื่นๆ ได้แก่ การเพิ่มการใช้ยางภายในประเทศ การลดพื้นที่ปลูกยาง รวมถึงการสร้างตลาดกลางยางพาราขึ้นในประเทศไทย เช่นเดียวกับตลาดกลางยางพาราในเซี่ยงไฮ้ของจีน ในสิงค์โปร์ และญี่ปุ่นเนื่องจากไทยเป็นผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ที่สุดของโลก จึงควรกำหนดราคากลางตามกลไกตลาดที่แท้จริงได้ ไม่ให้ถูกบิดเบือนจากตลาดต่างประเทศ เมื่อราคาปรับตัวสูงขึ้นเท่ากับราคาที่ประกันรายได้ไว้ จะหยุดโครงการประกันรายได้ทันที โดยเชื่อมั่นว่า มาตรการต่างๆ ที่ทำควบคู่กัน จะทำให้ราคายางพารามีเสถียรภาพอย่างยั่งยืนในอนาคต” นายเฉลิมชัยกล่าว