กระทรวงสาธารณสุข เผยนโยบายจัดรูปแบบระบบบริการดูแลสุขภาพประชาชน 5 ด้าน รับมือความท้าทายในอนาคต ทั้งสังคมผู้สูงอายุ การเชื่อมต่อการค้าการลงทุนแบบไร้รอยต่อ ความเป็นสังคมเมืองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้คนไทยเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ลดความเหลื่อมล้ำ และมีความมั่นคงทางสุขภาพ
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “นโยบายการจัดการสาธารณสุขกับการดูแลสุขภาพประชาชน” ในการประชุม UHosNetครั้งที่ 70 จัดโดยโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์ ว่า ได้รับมอบหมายจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้มาปาฐกถาพิเศษการจัดระบบบริหารจัดการบริการด้านสุขภาพสำหรับปัจจุบันและอนาคต ของกระทรวงสาธารณสุข ให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน เพื่อรับมือความท้าทายที่ประเทศไทยกับเผชิญอยู่และจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมุ่งเน้นการ “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ร่างกายแข็งแรง ทำให้เศรษฐกิจประเทศแข็งแรง”
นายแพทย์สุขุม กล่าวว่า ความท้าทายในการจัดบริการสาธารณสุขกับการดูแลสุขภาพประชาชนในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ ที่สำคัญๆมีอยู่ 4ด้าน คือ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2564 จะมีผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 20 ซึ่งจะมีความต้องการดูแลด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้น การที่โลกเชื่อมต่อการค้าการลงทุนแบบ
ไร้รอยต่อ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การโยกย้ายประชากรแรงงาน จะกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของลักษณะโรคภัย รวมทั้งต่อบุคลากรผู้ให้บริการ อีกทั้งการที่แนวโน้มความเป็นสังคมเมือง การใช้ชีวิต การบริโภคเปลี่ยนไประบบบริการสาธารณสุขเขตเมืองจะมีความซับซ้อนจัดการยุ่งยากขึ้น และความท้าทายสุดท้ายคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างกว้างขวาง ทั้งภาวะโลกร้อน ภัยธรรมชาติ อากาศร้อน การขาดแคลนน้ำสะอาด ส่งผลให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้กว้างขึ้น ทำให้กลุ่มอ่อนไหว ทั้งเด็กอ่อน ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ถูกทอดทิ้งทางสังคม เสี่ยงเจ็บป่วยและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น
ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข จึงได้วางแนวทางการรับมือความท้าทายในการจัดบริการสาธารณสุขกับการดูแลสุขภาพประชาชน ตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อป้องกันผลกระทบที่เกิดต่อสุขภาพของประชาชน มุ่งเน้นกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพร่วมกับภาคีเครือข่าย 5 ด้านประกอบด้วย1.การพัฒนางานสาธารณสุขตามแนวพระราชดำริ โครงการเฉลิมพระเกียรติ เพื่อสืบสาน รักษา
ต่อยอดและพัฒนาการบริการด้านสาธารณสุข 2.การสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้กับประชาชนทุกช่วงวัยให้มีสุขภาพดี เข้าถึงการบริการ การจัดการภัยคุกคามความมั่นคงทางสุขภาพ อาทิ วิกฤตการณ์ด้านสาธารณสุข โรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ ร่วมกับเครือข่ายภาครัฐ ประชาชน ท้องถิ่น และเอกชนในการคุ้มครองผู้บริโภค ความร่วมมือทางสาธารณสุขกับต่างประเทศ ด้านความมั่นคงทางสุขภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนและพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ
3.การดูแลให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ลดความเหลื่อมล้ำ แออัด ระยะเวลารอคอยรักษา และลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ด้วยการเชื่อมโยงการบริการทุกระดับ ยกระดับความรู้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ให้เป็นหมอประจำบ้าน และเพิ่มประสิทธิภาพการบริการด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทางการแพทย์ 4.พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุข ให้ประชาชนเข้าถึงการใช้กัญชาและสมุนไพรทางการแพทย์อย่างปลอดภัย ไม่ให้เกิดผลกระทบทางสังคม 5.การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ยึดหลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใสในการปฏิบัติงานกระจายอำนาจการบริหารจัดการระบบบริการและทรัพยากรสู่เขตสุขภาพ เพิ่มความคล่องตัวและตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่