กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งตั้งคณะทำงานช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ได้ให้กรมวิชาการเกษตรรวบรวมสารชีวภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพมาส่งเสริมให้เกษตรกรใช้แล้ว ส่วนพืชเศรษฐกิจที่ยังจำเป็นต้องใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช ให้หาสารเคมีอื่นๆ มาทดแทน นอกจากนี้ จะเร่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาหาแนวทางแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องของต้นทุนการผลิต
ขณะที่ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ออกแถลงการณ์ขอบคุณคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีการยกเลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด และหวังว่าจะเห็นความร่วมมือในการจัดการปัญหาอย่างเหมาะสมและยั่งยืน
ด้าน นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือ Bio Thai กล่าวพอใจเพราะเป็นไปตามคาดหมาย ตามที่ภาครัฐได้ให้สัญญาไว้ เพราะนอกจากจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชนแล้ว ยังพบข้อมูลวิจัยว่า มีการแทรกซึมเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารแล้ว พร้อมกับฝากถึงภาครัฐว่า แม้จะยกเลิกสารเคมีเกษตร 3 ชนิดนี้แล้ว ไม่ควรนำสารเคมีอื่นๆ มาทดแทน ควรเลือกใช้เทคโนโลยีการเกษตร เครื่องมือกล หรือเครื่องจักรกลทางการเกษตรแทน หรือใช้วิธีปลูกพืชแบบผสมผสาน
รองศาสตราจารย์ วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เสนอสารเคมีที่จะนำมาใช้ทดแทน โดยเฉพาะใช้กับพื้นที่เกษตรกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นสารเคมีในกลุ่มซัลเฟอร์ (Sulfur) แต่สิ่งสำคัญ รัฐต้องให้ความรู้เรื่องวิธีการใช้ ฤทธิ์อันตราย และการป้องกันตนเอง แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกรมวิชาการเกษตรว่าจะพิจารณาใช้สารเคมีชนิดใดทดแทน
ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เกษตรกรมีสิทธิที่จะยื่นศาลปกครอง เพื่อให้มีการคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งต้องดูว่าศาลจะรับคำร้องและมีคำสั่งอย่างไรต่อไป ส่วนมาตรการรองรับความเดือดร้อน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเป็นผู้ประเมินสถานการณ์และแก้ไข ส่วนเกษตรกรที่คัดค้าน ยืนยันจะเดินหน้ายื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ในวันที่ 28 ตุลาคมนี้ เนื่องจากจะทำให้ต้นทุนของเกษตรกรเพิ่มถึงขึ้น 5 เท่า และผลผลิตเกษตรลดต่ำลง