ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดจันทบุรี นายสมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมเร่งด่วน หลังจังหวัดได้มีการประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งเพิ่มจากเดิมประกาศให้ 9 อำเภอ ล่าสุด ได้ประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งทั้งจังหวัดแล้ว 10 อำเภอ
ขณะที่สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี มีความรุนแรงมากขึ้น ชาวบ้านเริ่มขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร ทางจังหวัดจึงได้มีการวางแผนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดจันทบุรี ทหาร ชลประทานจังหวัดจันทบุรี และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้นำรถบรรทุกน้ำเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน รวมทั้งการจัดทำฝาย การขุดบ่อน้ำบาดาลอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้ชาวบ้าน และชาวสวนได้ผลกระทบ ผลผลิตเสียหาย
ทั้งนี้ สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากในพื้นที่ยังไม่มีฝนตกลงมา แม้ทางหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจะเข้ามาช่วยในการทำฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีก็ตาม
ขณะที่น้ำในคลองธรรมชาติ และอ่างเก็บกักน้ำบางแห่งได้แห้งขอดลง รวมทั้งปริมาณน้ำในอ่างเก็บกักน้ำใน 4 แห่ง ของจังหวัดจันทบุรี ก็มีปริมาณน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรชาวสวนในพื้นที่ตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ต้องมีการปรับเปลี่ยนจากการสูบน้ำขึ้นมารดสวนผลไม้ ต้องปรับมาเป็นการใช้ระบบสปริงเกอร์แทนเพื่อเป็นการประหยัดน้ำสู้ภัยแล้ง และเพื่อให้ผลผลิตรอดพ้นจากสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ไปให้ได้
นายณรงค์ศักดิ์ สุธาทิพย์ เกษตรกรชาวสวน กล่าวว่า ในปัจจุบันเกษตรกรชาวสวนในพื้นที่ตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี จะใช้น้ำจากคลองวังโตนดเป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันปริมาณน้ำในคลองได้เริ่มลดลง และเกษตรกรต้องใช้ท่อสูบน้ำมายังคลองแห่งนี้เป็นระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร และการสูบน้ำขึ้นมาใช้ก็จะทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ตนเองจึงได้ปรับเปลี่ยนจากการสูบน้ำขึ้นมารดสวน มาเปลี่ยนเป็นการใช้ระบบสปริงเกอร์แทน เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ได้ประหยัดน้ำสู้ภัยแล้ง และเพื่อต้องการให้เกษตรกรชาวสวนในพื้นที่มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ และรอดพ้นจากวิกฤตภัยแล้งในปีนี้ไปให้ได้ต่อไป
นายวิสุทธิ์ ประกอบความดี ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ล่าสุด ทางจังหวัดได้ประกาศให้จังหวัดจันทบุรี เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้งแล้วทั้งจังหวัด 10 อำเภอ และสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน ทั้งการนำรถบรรทุกน้ำเข้าไปแจกจ่ายน้ำให้แก่ชาวบ้าน การขุดบ่อบาดาล และการจัดทำฝาย การขุดลอกคลองเพื่อไม่ให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบ และความเดือดร้อนเพิ่มขึ้นอีกด้วย