นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ได้สั่งการให้คณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด เร่งประชุมกำหนดมาตรการต่างๆ ให้เสร็จสิ้นเร็วที่สุด ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ประธานคณะทำงานได้นัดหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งศึกษาผลกระทบทุกด้านอย่างรอบคอบ ทั้งที่มีต่อเกษตรกร อุตสาหกรรมผลิตสินค้าเกษตรต่อเนื่อง และมาตรการสนับสนุนเกษตรกรได้รับผลกระทบ รวมทั้งการเตรียมเก็บสารเคมีทั้ง 3 ชนิด เพื่อทำลายตามหลักวิชาการให้มีความปลอดภัยในการประชุมครั้งที่ 2 ในสัปดาห์นี้
ขณะที่ กรมวิชาการเกษตร โดยสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร (สคว.)ได้ทำหนังสือแจ้งความคืบหน้าการดำเนินงานแก่ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร (สวพ.) 8 แห่งทั่วประเทศ เร่งรัดสต็อกล่าสุดของสารพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ภายในพื้นที่ส่งให้ สคว. รวงมทั้งให้จัดทำแผนการรับแจ้งและเก็บรวบรวมเพื่อจะนำเสนอคณะทำงานของกระทรวงฯ
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯ กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายในการทำลายสารเคมีที่เป็นวัตถุอันตรายเป็นความรับผิดชอบของผู้ครอบครอง ตามพ.ร.บ. วัตถุอันตราย มาตรา 52 วรรคท้าย ซึ่งขณะนี้กรมวิชาการเกษตร เตรียมส่งสารวัตรเกษตรและสารวัตรเกษตรอาสาจัดทำมาตรการตรวจสอบสต็อกอย่างเข้มงวด รวมทั้งป้องกันการลักลอบนำเข้าและจำหน่าย โดยก่อนที่การยกเลิกจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ธันวาคม ต้องไปให้คำแนะนำแก่ร้านจำหน่ายสารเคมีทางการเกษตรให้ส่งคืนบริษัท แล้วบริษัทต้องรับผิดชอบค่าทำลาย ไม่ใช่ใช้งบประมาณรัฐ
รมช. เกษตรฯกล่าวว่า ยังมีกำหนดการมอบหมายนโยบายแก่สารวัตรเกษตรทั่วประเทศ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 300 คน ในวันที่ 22 พฤศจิกายน เวลา 10.00 น. เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่อง ข้อควรปฏิบัติหลังการยกเลิกใช้สารเคมี 3 ชนิด โดยมอบหมายให้นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เรียกสารวัตรเกษตรเข้าร่วมประชุม ตลอดจนจัดสถานที่ให้ด้วย
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้ออกคำสั่งกรมวิชาการเกษตร เรื่อง การดำเนินการกับวัตถุอันตราย ชนิดที่ 4 ประกอบด้วย กลุ่มไกลโฟเซตได้แก่ เซสควิโซเดียม ไกลโฟเซต โซเดียม ไกลโฟเซต ไดแอมโมเนียม ไกลโฟเซต ไตรมีเซียม ไกลโฟเซต โพแทสเซียม ไกลโฟเซต โมโนเอทิลแอมโมเนียม ไกลโฟเซต และโมโนแอมโมเนียม ไกลโฟเซต กลุ่มคลอร์ไพริฟอสได้แก่ ไอโซโพรพิลแอมโมเนียม คลอร์ไพริฟอส และคลอร์ไพริฟอส-เมทิล
ส่วนกลุ่มพาราควอต ได้แก่ พาราควอตคลอไรด์และพาราควอตไดคลอไรด์ ซึ่งผู้ครอบครองต้องแจ้งปริมาณที่มีไว้ในครอบครองภายใน 15 วัน นับแต่ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดให้วัตถุอันตรายดังกล่าวเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 มีผลบังคับใช้ โดยผู้ครอบครองที่อยู่ในกรุงเทพมหานครแจ้งได้ที่ สำนักงานควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร
ส่วนภูมิภาคแจ้งได้ที่สำนักงานวิจัยและพัฒนาการเกษตร 8 เขตในจังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น อุบลราชธานี ชัยนาท จันทบุรี สุราษฎร์ธานี และสงขลา จากนั้นต้องส่งมอบแก่หน่วยงานที่กำหนดหลังแจ้งการครอบครองภายใน 15 วัน ซึ่งคำสั่งนี้ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562